ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากกระแสและความตื่นตัวของประชาชนทั่วไปที่ต้องการจะมีสุขภาพดี พร้อมๆไปกับกลุ่มประชาชนที่เจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องการดูแลสุขภาพตนเอง ทำให้กระแสนิยมในการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับและแพร่หลาย มีการมุ่งแสวงหาการแพทย์ทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับชุมชนท้องถิ่นมีการตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกมากขึ้น ทำให้ย้อนกลับมองอดีตที่ผ่านมาของการแพทย์แผนไทยว่ามีความเป็นมาอย่างไร

ประวัติการแพทย์แผนโบราณในประเทศไทยนั้น  ได้มีการค้นพบศิลาจารึกของอาณาจักรขอมประมาณปี  พ.ศ. 1725-1729   ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7   ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลโดยการสร้างสถาน พยาบาล เรียกว่า อโธคยาศาลา โดยมีผู้ทำหน้าที่รักษาพยาบาล รวม 92 คน มีพิธีกรรมบวงสรวงพระไภสัชยคุรุไวฑูรย์ ด้วยยาและอาหารก่อนแจกจ่ายไปยังผู้ป่วย  

ยุคสุโขทัย มีการค้นพบหินบดยาสมัยทวาราวดี ซึ่งเป็นยุคก่อนสมัยสุโขทัย  และได้พบศิลาจารึกของพ่อชุนรามคำแหงมหาราชที่จารึกไว้ว่าทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวงหรือเขาสรรพยา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอคีรีมาศ  เพื่อให้ประชาชนไปเก็บสมุนไพรมาใช้รักษาเวลาเจ็บป่วย

ยุคอยุธยา การแพทย์แผนไทยในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากการแพทย์ของอินเดียที่เรียกว่า อายุรเวท ซึ่งเป็นการแพทย์แผนโบราณของอินเดียเป็นสำคัญ มีคัมภีร์แพทย์ที่กล่าวกันว่าหมอชีวกโกมารภัจจ์ ที่เป็นแพทย์ ประจำตัวของพระ พุทธเจ้าเป็นผู้แต่ง  ซึ่งมีเป้าหมายที่สภาวะสมดุลของธาตุ 4 อันเป็นองค์ประกอบของชีวิตผู้ที่จะเป็นแพทย์ได้ต้องมีวัตรปฏิบัติที่งดงามในทุกด้าน มีความกตัญญูรู้คุณครูบาอาจารย์ และนับถือว่าครูดั้งเดิมคือพระฤาษี

สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พบว่า มีหมอหลวงในราชสำนัก จาก“ทำเนียบศักดินาข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน” ที่ตราขึ้นในปี พ.ศ.1998 ระบุว่า มีข้าราชการในกรมแพทยา โรงพระโอสถ กรมหมอยา กรมหมอนวด กรมยาตา กรมหมอวรรณโรค

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พบบันทึกว่า มีระบบการจัดหายาที่ชัดเจน สำหรับประชาชนจะมีแหล่งจำหน่ายยาและสมุนไพรหลายแห่งทั้งในและนอกกำแพงเมือง  มีตำรับยาซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย ชื่อว่า “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” เป็นการรวบรวมตำรับยาที่หมอในราชสำนักปรุงถวายพระมหากษัตริย์ในยุคนั้น มีการอธิบายสมุฏฐานแห่งโรคตามหลักทฤษฎีธาตุทั้งสี่ โดยกล่าวอ้างอิงถึงคัมภีร์มหาโชติรัตน์และคัมภีร์โรคนิทานซึ่งถือกันว่าเป็นคัมภีร์แพทย์ที่สืบทอดมาแต่โบราณกาล ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ยังระบุว่า หมอในราชสำนักที่ปรุงยาถวายพระมหากษัตริย์มีทั้งสิ้น 9 คน เป็นหมอสยาม 5 คน ที่เหลือเป็นหมอจีน 1 คน หมอแขก 1 คน และหมอฝรั่ง 2 คน โดยในจำนวนนี้เป็นหมอหลวงที่รับราชการ 7 คนและหมอที่มิได้รับราชการ 2 คน

ยุครัตนโกสินทร์

สมัยรัชกาลที่  1 ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดโพธารามหรือวัดโพธิ์เป็นพระอารามหลวงโดยให้ชื่อว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ทรงให้รวบรวมและจารึกตำรายาและฤาษีดัดตน ตำรานวดแผนไทยไว้ตามศาลาราย มีการจัดตั้งกรมหมอโรงพระโอสถ ผู้รับราชการเรียกว่า “หมอหลวง” ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ หมอหลวงแบ่งเป็นฝ่ายในและฝ่ายนอก หมอหลวงฝ่ายใน มีหน้าที่ดูแลพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ในพระบรมมหาราชวังตลอดจนข้าราชบริพารผู้ที่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย หมอหลวงฝ่ายนอกมีหน้าที่ดูแลพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งไม่ได้อยู่ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน

การแต่งตั้งหมอหลวงในระยะแรกสันนิษฐาน ว่า คัดเลือกมาจากหมอราษฎร์ที่มีความรู้ความชำนาญเข้ามารับราชการ รวมทั้งคัดเลือกเชื้อพระวงศ์ที่มีความรู้ความชำนาญในด้านการแพทย์เป็นผู้กำกับดูแลกรมหมอ ต่อมามีการฝึกหัดบุตรหลานของหมอหลวง เริ่มตั้งแต่ให้เป็นลูกหมู่อยู่ในกรมหมอ และเลื่อนชั้นขึ้นตามลำดับ

เนื่องจากสมัยก่อนรัชกาลที่ 5 ยังมิได้จัดให้มีการบริการทางการแพทย์แก่ประชาชนโดยทั่วไป และการแพทย์ในราชสำนักก็มุ่งที่จะให้บริการแก่พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารเท่านั้น ดังนั้น การแพทย์ในส่วนของภาคประชาชนจึงต้องพึ่งพาอาศัยหมอที่มิได้รับราชการ ที่เรียกว่า “หมอราษฎร์”  หมอเชลยศักดิ์ หมอกลางบ้าน และหมอพระ หมอราษฎร์ส่วนหนึ่งเป็นหมอที่สืบทอดความรู้มาจากบรรพบุรุษ ส่วนหนึ่งอาจเป็นพวกที่ศึกษาจากตำราแพทย์แล้วออกหาประสบการณ์ลองผิดลองถูกด้วยตนเอง หมอราษฎร์ที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงหรือหัวเมืองใหญ่ ๆ ใช้วิชาการแพทย์ตามหลักคัมภีร์แพทย์ที่สืบทอดกันมาเช่นเดียวกับหมอหลวง หมอราษฎร์ตามหัวเมืองที่มีความรู้สามารถที่จะเข้ารับราชการเป็นหมอประจำเมืองในกรมหมอหลวงของเมืองใหญ่ ๆ เช่น นครศรีธรรมราช เป็นต้น

สมัยรัชกาลที่ 2 ทรงให้รวบรวมคัมภีร์แพทย์ที่กระจัดกระจายมารวบรวมไว้ ณ โรงพระโอสถ และให้กรมหมอหลวงคัดเลือกจดเป็นตำราหลวง สำหรับโรงพระโอสถเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในปีพ.ศ. 2359 มีพระราชโองการโปรดเกล้าให้ตรากฎหมาย ชื่อกฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย ให้อำนาจพนักงานมีอำนาจออกไปค้นหาพระโอสถ คือ สมุนไพร ที่ปรากฎมีอยู่ในแผ่นดิน ผู้ใดจะคัดค้านมิได้ พนักงานพระโอสถจึงมีอำนาจในการค้นหายา และมักจะเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลสืบทอดกันมาเท่านั้น

สมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบำเรอราชแพทย์ ที่เป็นแพทย์ประจำราชสำนัก เป็นแม่กองจัดประชุมหมอหลวงแต่งตำราและบันทึกตำรายาแผนโบราณต่างๆ พร้อมทั้งได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชโอรสาราม และจารึกตำราไว้ในแผ่นศิลา ตามเสาระเบียงพระวิหาร รวมทั้งทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมมังคลาราม (วัดโพธิ์) อีกครั้ง ให้จารึกตำรายาไว้บนหินอ่อนประดับไว้ตามผนังโบสถ์ ศาลาราย รอบเจดีย์สี่องค์ของวัด เป็นตำราบอกสมุฏฐานของโรค และวิธีบำบัด ทรงให้นำสมุนไพรที่ใช้ปรุงยาและหายากมาปลูกไว้ ทั้งให้ปั้นรูปฤาษีดัดตนในท่าต่างๆ เพื่อให้ราษฎรได้ศึกษาและนำไปใช้ในการรักษาตน โดยมิหวงห้ามไว้ในตระกูลใด นับได้ว่าเป็นโรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งแรก คือ "วิทยาลัยการแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์" ถือว่าเป็น "มหาวิทยาลัยเปิด" แห่งแรกในประเทศไทย

สมัยรัชกาลที่ 4 การแพทย์ของประเทศไทยในสมัยนี้ แยกออกอย่างชัดเจนเป็นสองแผน คือ การแพทย์แผนเดิมหรือแผนโบราณ และการแพทย์แผนปัจจุบัน มีการกำหนดข้าราชการฝ่ายวังหน้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ ได้แก่ ข้าราชการในกรมหมอ กรมหมอยา กรมหมอนวด กรมหมอกุมาร กรมหมอยาตา หมอฝรั่ง

อาคารโรงเรียนแพทยากร (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นราชแพทยาลัย) 

สมัยรัชกาลที่ 5  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนแพทยากรขึ้นที่ศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2433  เพื่อจัดการสอนเรื่องแพทย์ มีหลักสูตร 3 ปี  การเรียนมีทั้งวิชาแพทย์แผนตะวันตก และแพทย์แผนไทย ในส่วนของแผนไทยนั้น  มีหม่อมเจ้าเจียก ทินกร เจ้ากรมแพทย์สำนักพระราชวังหลวงเป็นอาจารย์สอน  มีการพิมพ์ตำราแพทย์สำหรับใช้ในโรงเรียนเล่มแรก คือ แพทยศาสตร์-สงเคราะห์ (ฉบับหลวง) ในปี พ.ศ. 2438 เนื้อหามีทั้งการแพทย์แผนตะวันตกและแผนไทย ซึ่งแผนไทยนั้นนอกจากจะใช้ตำราหลวงในหอสมุดวชิรญาณเรียนแล้ว ภาควิชาหัตถศาสตร์ หรือตำรานวดแบบหลวง ทรงโปรดเกล้าให้แพทย์หลวงชำระและแปลตำราแพทย์จากบาลี สันสกฤตเป็นภาษาไทย ต่อมาหม่อมเจ้าปราณีได้เรียบเรียงตำราขึ้นใหม่ให้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น มีตำราธาตุวินิจฉัย สมุฏฐานวินิจฉัย ธาตุอภิญญาณ  อสุรินทญาณธาตุ ปฐมจินดา โรคและยาต่าง ๆ หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์ที่มีการเรียนแผนไทยร่วมด้วย มีระยะเวลาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2436 จนถึง พ.ศ. 2458

การปรุงยาแผนโบราณ ในสมัยรัชกาลที่ 5 บริเวณหน้าโรงพยาบาลศิริราช

สมัยรัชกาลที่ 6 ถือว่าเป็นช่วงตกต่ำของวงการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์แผนโบราณ มีการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของแพทย์ มีการยกเลิกการเรียนวิชาการแพทย์ไทย โดยให้เหตุผลว่า การสอนวิชา การแพทย์ตามแบบไทยนั้นไม่เข้ากับแบบฝรั่ง

สมัยรัชกาลที่ 7 มีประกาศ พ.ร.บ.การแพทย์ พ.ศ.2466 และออกกฎเสนาบดี พ.ศ.2472 แบ่งการประกอบโรคศิลปะ เป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ กำหนดว่า ก. ประเภทแผนปัจจุบัน คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะ โดยความรู้จากตำราอันเป็นหลักวิชาโดยสากลนิยม ซึ่งดำเนินและจำเริญขึ้น อาศัยการศึกษา ตรวจค้น และทดลองของผู้รู้ ในทางวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ข. ประเภทแผนโบราณ คือ ผู้ประกอบโรคศิลปะ โดยอาศัยความสังเกตความชำนาญ อันได้บอกเล่าสืบต่อกันมาเป็นที่ตั้ง หรืออาศัยตำราที่มีมาแต่โบราณ มิได้ดำเนินไปทางวิทยาศาสตร์ การออกกฏเสนาบดีนี้เป็นเหตุให้การแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์แผนโบราณแยกขาดจากกันอย่างสิ้นเชิง และทำให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบโรคศิลปะแผนโบราณเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

สมัยรัชกาลที่  8   มีการยกเลิก พ.ร.บ.การแพทย์ พ.ศ.2466 แล้วตรา พ.ร.บ.ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2479 ขึ้นมาใช้แทน อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้ยังคงแบ่งการประกอบโรคศิลปะเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ และมีผลต่อการควบคุมวิชาชีพทางการแพทย์อย่างยาวนานต่อเนื่องถึง 63 ปี ในรัชสมัยนี้ มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรเพิ่มขึ้น เนื่องจากในระหว่างปี พ.ศ. 2485 - 2486 ขณะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการลุกลามเข้ามาในเขตเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา ศาสตราจารย์นายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ได้ทำวิจัยสมุนไพรที่ใช้รักษาไข้มาลาเรียที่โรงพยาบาลสัตหีบ หลังสงครามโลกสงบลง ยังคงมีปัญหาขาดแคลนยาแผนปัจจุบัน รัฐบาลจึงมีนโยบายให้โรงงานเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุขนำสมุนไพรมาผลิตเป็นยารักษาโรค

สมัยรัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ. 2498 สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณสิริ) ได้ก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แผนโบราณขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนโบราณ มีการสอนทั้งวิชาเภสัชกรรม, เวชกรรม และการผดุงครรภ์ไทย และการนวดแผนโบราณ ตามกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ปีพ.ศ. 2542 มีการประกาศ พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 ที่มีการแก้ไขสาระสำคัญหลายประการที่เอื้อต่อการพัฒนาการแพทย์แผนไทยมากขึ้น เช่น เปลี่ยนชื่อการประกอบโรคศิลปะแผนโบราณเป็นการแพทย์แผนไทย

ในปีพ.ศ. 2524 ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ได้ก่อตั้งอายุรเวทวิทยาลัยขึ้น เพื่อผลิตแพทย์แผนโบราณรุ่นใหม่ โดยสอนความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพควบคู่ไปกับวิชาการแพทย์แผนโบราณ สอนทั้งเวชกรรม เภสัชกรรม การผดุงครรภ์ และการนวดแบบราชสำนัก ซึ่งหลักสูตรใช้เวลาศึกษา 3 ปี และแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่เรียนจบหลักสูตรนี้สามารถสอบใบประกอบโรคศิลปะได้

พ.ศ. 2528 ถือได้ว่าเป็นจุดเปลื่ยนของวงการแพทย์แผนไทย   จากการที่กลุ่มศึกษาปัญหายา มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา มูลนิธิหมอชาวบ้าน คณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนเพื่อการสาธารณสุขมูลฐาน ร่วมกับ สมาคมแพทย์แผนโบราณต่าง ๆ ได้จัดสัมมนาฟื้นฟูการนวดไทยเป็นครั้งแรก และได้ก่อตั้ง โครงการฟื้นฟูการนวดไทย เพื่อทำกิจกรรมรณรงค์เผยแพร่การนวดไทยแก่ประชาชนให้สามารถนำไปใช้เพื่อทดแทนการใช้ยาแก้ปวดเกินจำเป็น เสริมศักยภาพของหมอนวดไทยจากสำนักต่าง ๆ รวมทั้งหมอนวดอิสระ โครงการนี้มีส่วนทำให้มีการใช้การนวดไทยแพร่หลายมากขึ้นในหมู่ประชาชนและมีการนำการนวดไทยไปใช้ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐในเวลาต่อมา  ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการสมุนไพรกับการสาธารณสุขมูลฐาน โดยความร่วมมือของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐ เยอรมัน เน้นการทดลองใช้ สมุนไพร 5 ชนิดในคลินิกของโรงพยาบาลชุมชน 5 แห่ง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ยาสมุนไพรและยาแผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน

พ.ศ. 2532 กระทรวงสาธารณสุข โดยมติเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานการพัฒนาการแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำหน้าที่วางนโยบายและแนวทางเกี่ยวกับการพัฒนาการแพทย์แผนไทย เอื้ออำนวย ประสานงาน และให้การสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ศูนย์ประสานงานฯ ที่เกิดขึ้นนี้ ได้เริ่มวางรากฐานการพัฒนาการแพทย์แผนไทยโดยการประสานความร่วมมือจากฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และฝ่ายวิชาชีพ ต่อมาในปี พ.ศ.2536 หน่วยงานนี้ได้โอนไปรวมกับสถาบันการแพทย์แผนไทย  ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสังกัดกรมการแพทย์ ต่อมาได้ย้ายไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามลำดับ

ปัจจุบันการแพทย์แผนไทยได้แบ่งออกเป็น 4 สาขา คือ

1.สาขาเวชกรรมไทย เป็นการตรวจ การวินิจฉัยโรค เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรคตามแนวทางของการแพทย์แผนไทย จากนั้นจึงทำการบำบัดหรือรักษา หรือป้องกันด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย

2.สาขาเภสัชกรรมไทย เป็นการเตรียมยา การผลิตยาแผนไทย ด้วยกรรมวิธีการแพทย์แผนไทย

3.สาขาผดุงครรภ์ไทย เป็นการดูแลสุขภาพของมารดาและเด็กในครรภ์ ตั้งแต่ก่อนคลอด การทำคลอด พร้อมทั้งการดูแลและส่งเสริมสุขภาพมารดาและเด็กในระยะหลังคลอด แต่ในปัจจุบันหน้าที่ในการทำคลอดแบบแผนไทยมีน้อยลง แต่จะเน้นในการดูแลสุขภาพของ มารดาหลังคลอดมากขึ้น

4.สาขาการนวดไทย เป็นทั้งศาสตร์และศิลปะ ที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล เกิดขึ้นจากสัญชาตญาณเบื้องต้นของการอยู่รอด เมื่อมีอาการปวดเมื่อยหรือเจ็บป่วย ตนเองหรือญาติมิตรมักจะบีบนวดบริเวณดังกล่าวนั้น ทำให้อาการปวดเมื่อยคลายลง  ในครั้งแรกๆ เป็นไปโดยมิได้ตั้งใจ ต่อมาเริ่มสังเกตเห็นผลของการบีบนวดในบางจุดหรือบางวิธีที่ได้ผล จึงเก็บไว้เป็นประสบการณ์และกลายเป็นความรู้ที่สืบทอดกันต่อๆ มา การนวดไทยปัจจุบัน มีทั้งการนวดเพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วย การนวดเพื่อสุขภาพ และการนวดเพื่อเสริมสวย ในบางคนอาจจะมีการใช้ยาสมุนไพรควบคู่ไปด้วยก็มี เช่น ให้รับประทานยาสมุนไพร หรือในระหว่างการนวดอาจจะมีการประคบด้วยลูกประคบสมุนไพรด้วยก็ได้ 

 

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงสาธารณสุข, [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2557. จาก http://mophaccess.moph.go.th/index.php/2013-07-15-03-58-59/72-2013-07-15-03-56-49

สมุนไพรดอทคอม, [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2557. จาก http://www.samunpri.com/?page_id=235

กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2557. จาก http://www.dtam.moph.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=26&Itemid=108

ยงศักดิ์ ตันติปิฎก.การแพทย์ไทย: วาทกรรมสร้างรัฐชาติ วิทยาศาสตร์ และภูมิปัญญา.บทความในโครงการศึกษาความหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพในสังคมไทย ทุนสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ปี 2546

สุภัทรา กลางประพันธ์.ประวัติการแพทย์แผนไทย.เอกสารประกอบการสอนคณะแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก.มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

ประวัติการแพทยแผนไทยในประเทศไทยของเรา.จุลสารภูมิไท ปที่ ๒ ฉบับที่ ๑ เดือนมีนาคม ๒๕๕๓

สมาคมเภสัชและอายุรเวชโบราณแห่งประเทศไทย, [Online], สืบค้นเมื่อวันที่ 18 กรกฏาคม 2557. จาก http://ayurvedicassociationofthailand.blogspot.com/2014/04/blog-post_23.html