ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดสธ.ยันการปรับเกลี่ยงบ 368 ล้านบาท ยึดตามหลักเกณฑ์ เน้นเขตบริการที่ถูกหักเงินเดือนจากค่าหัวบัตรทองเกิน 60% และความขาดแคลนเป็นหลัก ชี้เขต 10 อุบลฯ ถูกหักสูงสุดถึง 658 ล้านบาท จัดคืนให้ 135 ล้านบาทก็ไม่พอ ยันไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัว ด้าน ผอ.กลุ่มประกันฯ สธ. เผย เหตุตั้งงบเงินเดือนรอกลุ่มข้าราชการที่จะบรรจุ 7,547 ตำแหน่ง แต่กลับไม่ได้รับการบรรจุ เป็นเหตุให้ถูกหักงบเงินเดือนสูงเกินจริง

 

ข้อความจาก facebook ชมรมแพทย์ชนบท

27 ก.ค.57 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่ ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค “ชมรมแพทย์ชนบท” ท้วงติงเรื่องการจัดสรรงบประมาณการจัดสรรงบประมาณหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดยอดเงินในงวด 4 อย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะกรณีการจัดสรรลงไปที่เขต 10 อุบลราชธานี จำนวน 135 ล้านบาท ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ได้รับงบประมาณเพียง 10-30 ล้านบาท และบางจังหวัดก็ไม่ได้รับจัดสรร ว่า เป็นเรื่องที่ไม่จริง ข้อกล่าวหานี้ไม่เป็นธรรมกับตนเอง ทั้งนี้สืบเนื่องจากงบประมาณค่าหัวค่าหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่ได้ในแต่ละปีนั้นจะต้องถูกหัก 60% เพื่อเป็นเงินเดือนของบุคลากร แต่มีปัญหาว่าข้อมูลของ สธ.กับ สปสช.ไม่ตรงกัน ซึ่งเมื่อปี 2556 นั้นพบว่ามีบางเขตถูกหักเงินเดือนไม่ถึง 60% บางแห่งถูกหักเงินสูงถึง 65% ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักการหักเงิน ดังนั้น สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์(สนย.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) จึงได้ส่งหนังสือดำเนินการชำระข้อมูลลงไปยังแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สำนักงบประมาณส่งคืนเงินส่วนเกินประมาณ 1.2 พันล้านบาทกลับมา ซึ่งตรงนี้ สปสช.ก็เห็นด้วยว่าจะได้นำมาปรับเกลี่ยในเขตบริการให้สมบูรณ์มากขึ้น

ส่วนงบ 368 ล้านบาทนั้น  เป็นการปรับเกลี่ยระหว่างเขตเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยใช้หลักเกณฑ์การจัดสรร 4 ข้อ คือ

1.ให้เขตที่ขาดงบประมาณซึ่งเป็นผลมาจากการถูกหักเงินเดือนเกิน 60% เป็นหลัก ถ้าขาดจากเหตุผลอื่นจะไม่ได้รับการจัดสรร 

2.จัดให้ตามความรุนแรงของการขาด นั่นคือเขต 10 ขาดมากที่สุด 

3.จัดให้กับเขตที่มีกลุ่มฮาร์ดชิพ เช่น เขต 1 เป็นเขตที่มีภูเขาจำนวนมาก และเขต 11 มีเกาะจำนวนมาก

4.เขตที่มีหน่วยบริการเยอะ และเขตบริการที่จะไม่ได้รับการจัดสรรพิจารณาจาก 3 หลักเกณฑ์ คือ 1.เขตที่มีสัดส่วนประชากรในระบบบัตรทองน้อย เนื่องจากได้กำไรจากสิทธิอื่น 2.เขตที่มีการบริหารจัดการร่วมได้ คือภาพรวมทั้งเขตไม่ขาด แต่ขาดเป็นหย่อม ตรงนี้สามารถปรับเกลี่ยช่วยเหลือกันภายในเขตได้

ดังนั้นที่เห็นว่าเขต 10 ได้รับการจัดสรรเงินจำนวน 135 ล้านบาทนั้น เป็นเพราะถูกตัดงบประมาณเงินเดือนเกิน 60% ไปเยอะมากถึง 658 ล้านบาท เยอะกว่าทุกๆ เขต ถึงแม้จะจัดไปให้ 135 ล้านบาทก็ยังขาดกว่า 457 ล้านบาท ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นพื้นที่บ้านเกิดของตนอย่างแน่นอน เป็นการจัดสรรตามเกณฑ์

“วันที่มีการประชุมจัดสรรงบตัวนี้ร่วมกับผู้บริหารเขต กลุ่มประกันสุขภาพ ซึ่งผมนั่งเป็นประธานที่ประชุมร่วมกับ นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ รองเลขาธิการสปสช. ซึ่งท่านก็เห็นด้วยกับการดำเนินการทั้งเรื่องการปรับเกลี่ย และเรื่องของการคลีนข้อมูลกันเพื่อให้สำนักงบประมาณส่งคืนเงินส่วนเกินประมาณ 1.2 พันล้านบาทกลับมา ถ้าท่านไม่เห็นด้วยก็คงคัดค้านไปตั้งแต่วันนั้นแล้ว” นพ.วชิระ

ด้าน นพ.บัญชา ค้าของ ผู้อำนวยการกลุ่มประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปกติสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์(สนย.) จะประมาณการงบประมาณเงินเดือนที่ต้องใช้ในแต่ละปี โดยคำนวณจากจำนวนข้าราชการ ลูกจ้างประจำที่อยู่ในบัญชีงบประมาณ และครอบคลุมไปถึงการบรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ย้าย หรือการปรับค่าตอบแทนต่างๆ ตามเกณฑ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า และในปี 2557 ประมาณการไว้ที่ประมาณ 61,000 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมจำนวนข้าราชการที่จะต้องบรรจุอีก 7,547 ตำแหน่งด้วย แต่ทางในปฏิบัติพบว่ามีการบรรจุข้าราชการล่าช้า ส่งผลให้มีการหักงบเงินเดือน 60% นั้นคลาดเคลื่อน คือเป็นงบเงินเดือนสูง และส่งผลให้งบดำเนินการเหลือน้อยกว่าความเป็นจริง 1,200 ล้านบาท 

“เงินเดือนเป็นตัวเลขโดยอนุมานที่ สนย.ต้องประเมินตัวเลขสูงไว้ เพราะว่าถ้าประเมินต่ำเพื่อให้ถูกหักน้อยจะเป็นปัญหาเงินเดือนไม่พอในช่วงกลางปีต้องไปขอสำนักงบประมาณอีกรอบ เพราะฉะนั้น สปสช.เอาตัวเลขของ สนย.ไปตั้งจึงหักสูงซึ่งเมื่อคำนวณตามยอด 61,000 ล้านบาท หักไป 60% คิดเป็นเงินประมาณ 36,800 ล้านบาท และจำนวนนี้สูงกว่าเงินเดือนจริงที่เกิดขึ้นระหว่างที่เอามาใช้ จนเกิดปรากฎการณ์งบค่าหัวบัตรทองโดนหักเงินเดือนมากกว่าความเป็นจริง ทำให้งบดำเนินการเหลือน้อยลงประมาณ 1,200 ล้านบาท เพราะดันถูกหักไปเป็นเงินเดือนของข้าราชการที่ต้องบรรจุ แล้วยังไม่ได้บรรจุข้าราชการจำนวน 7,547 ตำแหน่งด้วย” นพ.บัญชา กล่าวและว่า การจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ใช้หลักเกณฑ์ของ สปสช.ทั้งหมด ส่วนหน้าที่ของ สธ. จะแตกต่างจากปีที่แล้วคือ 1.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรวจสอบอัตราเงินเดือนว่าเป็นไปตามนั้นหรือไม่ 2.ปรับเกลี่ยในระบบเขต 3% ตามที่ สปสช.ให้อำนาจ เพราะฉะนั้นการปรับเกลี่ยเป็นเรื่องของเขต ส่วนกลางทำหน้าที่แค่รวบรวมข้อมูลส่งให้กับ สปสช.เท่านั้น

นพ.บัญชา กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เงินที่จะได้ของแต่ละโรงพยาบาลจะไปสอดคล้องเรื่องของการเงินการคลังในเขต หากโรงไหนเดือดร้อน ในเขตบริการสุขภาพจะช่วยเหลือกัน โดยเขตสุขภาพจะปรับเกลี่ย 3% ไปช่วย แต่สธ.มีกฎใหม่คือให้เป็นแบบเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข คือโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปแม้ว่าจะขาดทุนจากระบบบัตรทองแต่ไม่ต้องช่วยเพราะว่าเขามีฐานะทางการเงินดีจากรายได้ของสิทธิอื่นๆ จึงแทบไม่ต้องส่งเงินค่าหัวบัตรทองลงไปช่วยเลย เมื่อคิดตามนี้แล้วจะทำให้เงินตกลงไปที่โรงพยาบาลชุมชนประมาณ 80-90% แต่ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาก็ยังพบว่า 90% ของโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงทางการเงินที่สุดจากประมาณ 130 แห่งนั้น เป็นโรงพยาบาลชุมชน นั่นแปลว่างบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอ ซึ่งมาจาก 2 สาเหตุ 1.โรงพยาบาลควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ดี 2.เงินที่ส่งเข้าไปไม่เพียงพอ ดังนั้นก็อาจจะต้องเติมเงินลงไปให้เพียงพอ

“การเติมเงินลงไปให้เพียงพอเท่าที่เรารู้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราส่วนใหญ่จะได้แค่เงินค้างท่อ หรือดอกเบี้ยของกองทุน เราประเมินแล้วว่าคร่าวๆ ขาดประมาณ 10,000-20,000 ล้านบาท แต่โรงพยาบาลก็ดำเนินการต่อไป โดยอาศัยจังหวัดปรับเกลี่ย ให้โรงพยาบาลพี่ช่วยตัวเอง และให้เงินนี้ไปช่วยเหลือโรงพยาบาลน้องแทน” นพ.บัญชากล่าว

ทั้งนี้ ในจำนวนเงิน 368,227,080 บาท นั้น แต่ละเขตได้รับการจัดสรร ดังนี้

เขต 1      54,550,254 บาท

เขต 2      23,082,350 บาท

เขต 3      22,124,446 บาท

เขต 4      33,920,768 บาท

เขต 5      30,436,376 บาท

เขต 6      14,709,319 บาท

เขต 7      ไม่ได้รับจัดสรรเพิ่ม

เขต 8      ไม่ได้รับจัดสรรเพิ่ม

เขต 9      18,392,472 บาท

เขต 10    135,459,491 บาท

เขต 11    37,551,504 บาท

เขต 12    ไม่ได้รับจัดสรรเพิ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แพทย์ชนบทจี้สธ.รับผิดชอบ หลังส่งข้อมูลเงินเดือนผิด ทำรพช.เดือดร้อน