ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ชนบทเปิดหนังสือด่วนสธ.จี้รพช. รพ.สต. ส่งข้อมูลเงินเดือน คำนวณส่งงบเหมาจ่ายที่เหลือปี 57 ใหม่ หลังรายงานข้อมูลเงินเดือน สธ.มั่ว ทำรพช.ขาดทุนระนาว กระทบจัดส่งงบเหมาจ่ายล่าช้า จี้หาไอ้โม่งรับผิดชอบ ด้าน“หมออารักษ์” เผย สาเหตุสธ.ร่อนหนังสือสั่งส่งงบเงินเดือนใหม่ เพราะมีรพ.ร้องเรียนเพียบ เหตุถูกปรับลดงบเงินเดือน กระทบงบรพ. ชี้แค่บริหารงบเงินเดือนยังมีปัญหา แถมงบค่าเสื่อมกว่าพันล้านบาทก็ยังไม่เบิกจ่าย แนะยกเลิกเขตสุขภาพที่จะดึงงบไปบริหารที่เขตดีกว่า

28 ก.ค. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตาม facebook ชมรมแพทย์ชนบท ล่าสุดได้มีการโพสต์เอกสารกระทรวงสาธารณสุข โดยเป็นหนังสือด่วนที่สุด เลขที่ ๐๒๐๕.๑๗/๖๓๔ ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 เรื่องผลการเบิกจ่ายงบบุคลากรของหน่วยบริการไม่รวมหน่วยบริหาร เฉพาะเงินงบประมาณ ปี พ.ศ. 2557 ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ลงนามโดย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ตามหนังสือดังกล่าว มีเนื้อหาระบุว่า ด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ต้องการทราบข้อมูลผลการเบิกจ่ายจริงของงบบุคลากรในหน่วยบริการตามบัญชีถือจ่ายในระบบ GFMS (ไม่รวมหน่วยบริหาร และ รพศ./รพท.ที่กำหนดเป็นหน่วยเบิกจ่าย) ของส่วนภูมิภาค จำนวนราย รพช. และ รพ.สต. เพื่อประกอบการพิจารณาการหักงบบุคลากรจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งจัดส่งข้อมูลผลการเบิกจ่ายงบบุคลากรเฉพาะเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2557 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557) จำนวนรายจังหวัด และรายอำเภอ (รพช. และ รพ.สต.) โดยจัดส่งให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ก่อนเวลา 16.30 น. โดยดาวโหลดแบบฟอร์มได้ที่เว็บไซด์ของกระทรวงสาธารณสุข เลือกหัวข้อเว็บหน่วยงานสาธารณสุขส่วนกลาง สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ หัวข้อ “รายงานผลการเบิกจ่ายงบบุคลากรหน่วยบริการส่วนภูมิภาค และส่งข้อมูลกลับมายังส่วนกลางทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ Budget@health2.moph.go.th  และขอให้ส่งเอกสารรายงานให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการ ทราบอีกทางหนึ่งด้วย รายละเอียดตามแบบรายงานดังสิ่งที่ส่งมาด้วย

ทั้งนี้ทางชมรมแพทย์ชนบทยังได้โพตส์ความเห็นหนังสือฉบับข้างต้นนี้ด้วยว่า

“กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ต้องมีหนังสือด่วนที่สุดสำรวจเงินเดือนค่าจ้างบุคลากรในเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ ทั้งๆที่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะต้องแจ้งเงินเดือนรายเครือข่ายไปให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ ตุลาคม 2556 เริ่มปีงบประมาณ 2557 เพื่อ สปสช.จะได้คำนวณเงินในโครงการหลักประกันตามประชากรและผลงานให้โรงพยาบาลต่างๆ ตามกฏหมายที่กำหนด ตามมติบอร์ด สปสช.แต่ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขกลับไม่ยอมส่งให้ จนโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขาดสภาพคล่องในงวดสุดท้ายจึงยอมส่งไป

ปรากฏว่ามีไอ้โม่งทำข้อมูลรายงานเงินเดือนอันเป็นเท็จ จะด้วยเจตนาอะไรพอรู้กัน ผลออกมา รพช.ต่างๆ เงินลดลงจากปีที่แล้วกันระนาวทั้งที่งานเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ว่ากันว่าเป็นใบสั่งจากเจ้ากระทรวงให้เอา สูตร moc มาใช้ มีเจตนาไม่น่าไว้วางใจ จนผู้บริหาร รพช.ออกมาโวยวายกันถ้วนหน้า เมื่อจำนนด้วยหลักฐานจึงต้องทำความจริงให้กระจ่าง ตรวจสอบใหม่ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็สำรวจไปแล้ว ว่ากันว่า คนที่รับใช้อยู่งานประกันใน สธ.และตัวดี ทำตัวเลขปลอมครับ อย่างนี้เขาเรียกว่าทุจริตเชิงนโยบายชัดๆ จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน ชาวบ้านก็เดือดร้อนอีก”

ด้าน นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สาเหตุที่ สธ.ต้องส่งหนังสือฉบับดังกล่าว เพื่อให้ รพช. และ รพ.สต.ส่งข้อมูลเงินเดือนใหม่นั้น เพื่อเป็นการยืนยันไปตามข้อมูลเงินเดือนที่ได้ส่งไปยังทาง สสจ.ก่อนหน้านี้ ภายหลังจากที่ รพช.และ รพ.สต.ได้รับผลกระทบจากการข้อมูลเงินเดือนที่ สธ.ทำขึ้นโดยไม่มีที่มาที่ไป ทำให้มี รพช.หลายแห่งถูกตัดงบหายไปจำนวนมากจากการตัดเงินเดือนของ สธ. จึงทำให้มีการออกมาโวยวาย และต้องมีการเรียกข้อมูลเงินเดือนกันใหม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้งบเหมาจ่ายรายหัวไตรมาสที่ 4 ที่หน่วยบริการควรได้รับแล้วต้องล่าช้าออกไป ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องต่อ รพ.หลายแห่ง โดยเฉพาะ รพ.ที่มีประชากรผู้มีสิทธิ์ 30,000 รายลงไป เพราะ รพ.เหล่านี้มีรายได้หลักที่มาจากงบเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ขณะที่ รพ.ขนาดใหญ่ระดับจังหวัด ส่วนใหญ่มีเงินบำรุงและรายได้อื่นๆ จากการบริการสิทธิประกันสังคม ข้าราชการ และที่ประชาชนจ่ายเงินเอง จึงยังไม่ส่งผลกระทบมากนัก

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาทางสปสช. จึงได้ทำการจัดสรรงบไตรมาส 4 ล่วงหน้าให้กับหน่วยบริการก่อน โดยใช้ตัวเลขงบเงินเดือนปี 2556 เพื่อคำนวณแทน ซึ่งหากมีเงินที่เกินหรือขาดจากตัวเลขที่หน่วยบริการควรได้รับหลังจากที่ใช้ตัวเลขเงินเดือนปี 25557 คำนวณในภายหลัง (หลังได้รับข้อมูลเงินเดือนปี 57 จาก สธ.) ค่อยมีการหักลบการจัดสรรงบในไตรมาสต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาไปก่อน     

นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีการจัดสรรเงินเดือนที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างหน่วยบริการ โดยมีบางเขตได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมถึงกว่า130 ล้านบาท ขณะที่บางเขตกลับไม่ได้รับการจัดสรรเลยนั้น เหตุผลที่ทาง สธ.ชี้แจงก็ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากมีหน่วยบริหารหลายแห่งที่ทำงานเท่าเดิม ซ้ำบางแห่งให้บริการผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่กลับถูกตัดเงินเดือน ขณะที่การชี้แจงการคิดคำนวณเงินเดือนล่วงหน้า สธ. กลับไปนำงบลูกจ้างชั่วคราวที่ยังไม่ได้รับการบรรจุมาร่วมคำนวณด้วย จนส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบเหมาจ่ายลงไปยังหน่วยบริการ

“หนังสือที่ สธ.ออกมาฉบับนี้ ไม่ได้ช่วย รพช. หรือ รพ.สต. ที่เกิดจากรณีที่ผู้บริหาร สปสช.เข้าพูดคุยกับทาง สธ.ถึงปัญหาการจัดสรรเงินเดือนที่เกิดขึ้น ที่พบตัวเลขคลาดเคลื่อน ทำให้ สธ.ต้องออกหนังสือเพื่อเรียกข้อมูลใหม่โดยให้หน่วยบริการยืนยัน” ที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท กล่าว และว่า ขนาดแค่บริหารงบเงินเดือน สธ.ยังมีปัญหา ซึ่งยังไม่รวมงบค่าเสื่อมที่หักไว้ที่ สธ. 20% จำนวน 1,068 ล้านบาทที่ยังไม่เบิกจ่าย ดังนั้นจึงควรยกเลิกนโยบายเขตสุขภาพที่ทาง สธ.จะดึงงบประมาณไปบริหารที่เขตเองได้แล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอวชิระยันจัดสรรงบยึดตามเกณฑ์ ไม่เกี่ยว เขต 10 เป็นบ้านเกิด