ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพร้องคสช.อย่ากลับไปใช้ระบบอุปถัมภ์ ปฏิรูประบบสุขภาพต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เผยคสช.นัดหารืองบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 58 แต่ไม่มีภาคประชาชนเข้าร่วม เชิญแต่ สธ. สปสช. และสสส. ทั้งที่เรื่องนี้เกี่ยวกับประชาชนโดยตรง ขณะที่สธ.เองก็ไม่เคยเห็นความสำคัญภาคประชาชน นัดคุยเตรียมพร้อม สธ. สปสช. สสส. ก็ไม่มีภาคประชาชนเข้าร่วม กังวลสธ.ยืมมือคสช.ปฏิรูปสุขภาพถอยหลังเข้าคอลง ดึงงบไปจัดการเอง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 กรกฎาคม  เครือข่ายสุขภาพ ประกอบด้วย กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง  อาทิ โรคไต  โรคมะเร็ง เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ รวมทั้งตัวแทนศูนย์ประสานงานสุขภาพภาคประชาชน เขตกทม. กว่า  30 คน เดินทางมารวมตัวบริเวณหน้าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการฯ นำโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์  และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน  เพื่อร่วมแสดงพลังร้องขอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) อย่าหลงชื่อแนวทางการปฏิรูปของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ถอยหลังเข้าคลอง และส่งผลเสียต่อประชาชน

นายนิมิตร์  เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หลังจาก คสช.นัดประชุม 3 หน่วยงานสุขภาพ มีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เพื่อหารือการบริหารงบประมาณโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี 2558 และแนวทางการปฏิรูประบบสาธารณสุขในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ที่กองบัญชาการ กองทัพเรือ ปรากฏว่ากลับไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งๆที่ระบบสุขภาพเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง ซึ่งผู้บริหารสธ.ก็ไม่มีการเสนอหรือเห็นความสำคัญของภาคประชาชนที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ผู้ป่วยเลย เห็นได้จากการประชุมในวันที่ 30 กรกฎาคม ที่สธ.เชิญสปสช.เข้าหารือเบื้องต้นก่อนนั้น ก็ไร้เงาเครือข่ายภาคประชาชนเช่นกัน เห็นได้ชัดว่าเรื่องนี้มีการหมกเม็ดในการนำเสนอแนวทางการปฏิรูประบบสุขภาพไทยหรือไม่

“สิ่งที่กังวลคือ สธ.ตั้งใจจะยืมมือคสช.ในการปฏิรูประบบสุขภาพแบบถอยหลังเข้าคลอง โดยพยายามชูประเด็นปฎิรูปด้วยการแบ่งเขตสุขภาพออกเป็น 12 พื้นที่ ซึ่งเราไม่ได้คัดค้านการแบ่งเขตสุขภาพ เพราะหากทำเพื่อการพัฒนาการบริการย่อมเป็นเรื่องดี แต่เราไม่เห็นด้วยในเรื่องการจัดสรรงบประมาณปี 2558 แบบใหม่ ที่จะมีการเปลี่ยนเส้นทางการส่งเงินไปยังโรงพยาบาลโดยตรง เปลี่ยนเป็นไปยังเขตบริการสุขภาพที่มีคนของกระทรวงฯนั่งหัวโต๊ะ แม้เงินจะอยู่ที่สปสช. แต่สุดท้ายการอนุมัติหรือการกระจายงบจะต้องให้เขตเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ผิดหลักการและขัดกฎหมาย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ระบุว่างบประมาณจะต้องส่งตรงยังโรงพยาบาล  การปฏิรูปรูปแบบนี้ไม่ต่างจากการขโมยเงินไปบริหารเอง” นายนิมิตร์ กล่าว และว่า ในวันที่ 31 กรกฎาคม ตัวแทนเครือข่ายสุขภาพจะเดินทางไปยังกองทัพเรือ เพื่อวอนขอ คสช.ในการเข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานสุขภาพภาครัฐด้วย เพราะภาคประชาชน คือตัวแทนของผู้ป่วยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบโดยตรง 

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกรรมการสปสช.สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า การจะมีนโยบายหรือกำหนดทิศทางการปฏิรูประบบสุขภาพใดๆ จำเป็นต้องได้รับความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบหลักประกันสุขภาพฯ ซึ่งในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุชัดว่า ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วมในระบบด้วย แต่ที่ผ่านมา สธ.ก็ไม่ให้ความสำคัญ เห็นได้ชัดจากการประชุมบอร์ด สปสช. ที่กำหนดชัดว่าต้องประชุมทุกเดือน แต่เมื่อมาถึงสมัย คสช. และมีปลัด สธ.  ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมบอร์ด สปสช. แต่กลับไม่เรียกประชุม ทำให้การอนุมัติสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ป่วยเพิ่มเติมติดขัดหมด อย่างล่าสุดอนุกรรมการสิทธิประโยชน์พิจารณาเห็นชอบให้ใช้ยาสำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซี แต่ต้องผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการของบอร์ด สปสช.ชุดใหญ่ก่อน ก็ไม่สามารถอนุมัติได้ เพราะไม่มีการประชุม เห็นได้ชัดว่า ทางสธ.ละเลย ไม่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วย จึงอยากวอนขอ คสช.อย่าหลงเชื่อ หรือตกเป็นเหยื่อในการทำให้ระบบสุขภาพเปลี่ยนแปลงไปหมด

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า การตัดสินใจในระบบหลักประกันสุขภาพฯ มีองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชน ถึงแม้ไม่ได้เป็นเสียงข้างมากแต่ก็ยอมรับ เพราะเป็นระบบที่ดี การจัดสรรเงินใช้กรอบของประชาชนในพื้นที่ เป็นหลักแทนที่จะจัดสรรตามขนาดโรงพยาบาล แต่การปฏิรูปใหม่กลับจะเอาเงินไปกองไว้ที่เขตบริการสุขภาพ แล้วค่อยมากระจายโรงพยาบาล ซึ่งไม่ถูกต้อง  

“การมีระบบหลักประกันสุขภาพได้ช่วยทำให้ประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาได้เข้าถึงบริการได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตัวอย่างชัดเจนที่เห็นได้จากกรณีของผู้ติดเชื้อเอชไอวี จากเมื่อก่อน การเข้าไปรับการรักษาเป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักมากแม้จะป่วยหนัก แต่ก็ต้องคิดว่าจะเอาเงินไหนไปจ่ายให้รพ. ถ้าไปแล้วจะต้องขอร้องรพ.แบบไหน เขาจะด่าเราไหม เพราะระบบมันยังเป็นแบบสงเคราะห์ หลายคนยอมตายดีกว่าไปรพ.แล้วต้องไปกราบไหว้ขอร้อง” นายอภิวัฒน์ กล่าว

นพ.นราพงศ์ ธีรอัครวิภาส ตัวแทนแพทย์ชนบท กล่าวว่า การปฏิรูปเขตสุขภาพของ สธ. มีการบริหารงบที่รวมศูนย์ ไม่ใช่กระจายอำนาจ โดยมีผู้ใหญ่ของ สธ.นั่งเป็นประธาน นอกนั้นผู้เข้าร่วมก็เป็นเด็กๆ ที่ไม่มีปากมีเสียงในการโต้แย้งประเด็นสำคัญ แบบนี้ใครจะคอยทักท้วงประเด็นที่อาจกระทบกับประชาชน  ที่สำคัญในเรื่องการจัดสรรเงินก็จะไม่มีใครตรวจสอบได้  การจัดสรรเงินต้องทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม และจัดสรรไปถึงหน่วยบริการตรงเพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพ และความต้องการของประชาชนในระดับพื้นที่ หากพบว่างบประมาณไม่เพียงพอจริง การปรับเพิ่มงบประมาณรายหัวก็ควรเป็นบทบาทที่สธ.ในฐานะผู้กำกับและบริการหน่วยบริการต้องต่อรองและร่วมกับสปสช.ในการเสนอต่อสำนักงบประมาณ