ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"เวชศาสตร์เขตร้อน"เผยภูมิภาคเอเชียมาลาเรียดื้อต่อยา "อาร์ติซูเนต" เกิน 50% สัมพันธ์ยีนกลายพันธุ์ ศึกษาพบยืดรักษาเป็น 6วัน อัตราป่วยเชื้อดื้อยาหายขาดสูงถึง 97.7% เตรียมใช้เป็นแนวทางรักษา พร้อมประเมินประสิทธิภาพยาเคเออีของบ.เอกชน พบขจัดเชื้อมาลาเรียได้เร็ว 12 ชั่วโมง ต่อยอดวิจัยระยะ 3 ก่อนผลิตใช้คาดอีก 3 ปี

31 ก.ค. 57 ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อนม.มหิดล มีการแถลงข่าว "ความสำเร็จระดับโลกในฐานะศูนย์กลางการวิจัยโรคมาลาเรีย" โดย รศ.พญ.เยาวลักษณ์ สุขธนะ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล กล่าวว่า คณะได้ร่วมมือกับนานาชาติ รายงานผลงานตีพิมพ์ในวาระสารทางการแพทย์ระดับโลก 2 โครงการ เพื่อรับมือกับปัญหาดื้ยาของเชื้อมาลาเรียในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกา ได้แก่

1. เชื้อมาลาเรียในภูมิภาคเอเชียดื้อต่อยาอาร์ติซูเนต ยาต้านมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน จากการวิจัยเรื่องการแพร่ขายพื้นที่การระบาดของเชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัมชนิดดื้อยาอาร์ติซูเนต และ 2.งานวิจัยเคเออี 609 ยากลุ่มอนุพันธ์สไปโรอินโดลอน เพื่อต้านเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัมและไวแวกซ์ ทั้งนี้ ผลการวิจัยทั้ง 2 เรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารชั้นนำทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine ซึ่งจะเผยแพร่ในวันที่ 1 ส.ค. 2557 ตามเวลาประเทศไทย

ศ.พญ.ศศิธร ผู้กฤตยาคามี รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล กล่าวว่า สำหรับงานวิจัยเรื่องการแพร่ขยายพื้นที่การระบาดของเชื้อมาลาเรียฟัลซิปารัมชนิดดื้อยาอาร์ติซูเนต คณะวิจัยได้วัดประสิทธิผลของยาอาร์ติซูเนตในผู้ป่วยมาลาเรียฟัลซิปารัมที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

โดยใช้ยาอาร์ติซูเนตชนิดกินนาน 3 วัน และตามด้วยยามาตรฐานแบบผสมอาร์ติมิซินิน ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2554 - เมษายน 2556 ครอบคุลม 10 ประเทศ จากทวีปเอเชีย 7 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา บังกลาเทศและอินเดีย และแอฟริกา 3 ประเทศ ได้แก่ คองโก ไนจีเรีย และคนยา ในคนป่วยประมาณ 1 หมื่นราย โดยวัดประสิทธิผลของยา 3 วิธี ประกอบด้วย 1.เจาะเลือดที่ปลายนิ้วเพื่อดูว่าเชื้อหมดจากร่างกายเมื่อไร หากเชื้อหลงเหลือในร่างกายเกิน 72 ชั่วโมงถือว่าดื้อยาในส่วนของเอเชียพบมากกว่า 50% ในแอฟริกาพบไม่ถึง 5%

2.ดูเวลาครึ่งชีวิตของการขจัดเชื้อมาลาเรีย โดยหากนานกว่า 5 ชั่วโมง จึงถือว่าดื้อยา เอเชียพบว่าใช้เวลาเกินมากกว่า 50% และแอฟริกาใช้เวลาเกินไม่ถึง 5% และ 3.การทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อดูยีนมาลาเรียมีการดื้อยาหรือไม่ ในเอเชียมีการดื้อยาและยีนเชื้อมาลาเรียมีการกลายพันธุ์ โดยพบว่าเชื้อดื้ยามีความสัมพันธ์กับการเกิดกลายพันธุ์ของยีนเคลซ์ 13 บนโครโมโซมคู่ที่ 13 ของเชื้อมาลาเรีย ซึ่งมีการกลายพันธุ์นี้ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ภาคใต้ของเวียดนามจนถึงตอนกลางของพม่า ขณะที่แอฟริกาการขจัดเชื้อมาลาเรียได้ช้าลง แต่ยังไม่กลายพันธุ์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยในแหล่งดื้อยาของประเทศกัมพูชา พบว่าเมื่อขยายการรักษาด้วยยาผสมอาร์ติมิซินินเป็น 6 วันจากเดิม 3 วันจะได้ผลดี มีอัตราการหายขาดสูง 97.7 %

"การศึกษาพบยีนส่วนที่ทำให้ให้เกิดการดื้อยานี้จะส่งผลดีในการศึกษากระบวนการดื้ยาของเชื้อมาลาเรีย เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการดื้ยาได้ ส่วนแนวทางการรักษามาลาเรียดื้อยาด้วยการขยายเวลาเป็น 6 วันนั้น เชื้อว่าหลังจากมีการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์เชื่อว่าองค์การอนามัยโลกจะนำแนวทางนี้ไปพิจารณาใช้เป็นเนวทางในการรักษาว่าประเทศที่มีมาลาเรียดื้อยาควรยืดเวลารักษาเป็น 6 วัน อย่างไรก็ตาม ไทยได้ร่วมกับประเทศเพื่นบ้านวางนโยบายขจัดเชื้อดื้อยา ซึ่งการยืดเวลารักษาเป็น 6 วันจะเป็นแนวทางหนึ่งด้วย"ศ.พญ.ศศิธรกล่าว

ศ.พญ.ศศิธร กล่าวอีกว่า สำหรับ งานวิจัยเคเออี 609 ยากลุ่มอนุพันธ์สไปโรอินโดลอน เพื่อต้านเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัมและไวแวกซ์ โดยยาดังกล่าวพัฒนาจากบริษัทเอกชน ซึ่งได้ประเมินประสิทธิภาพของยานี้ในผู้ป่วยจริงเป็นครั้งแรกของโลกที่รพ.เวชศาสตร์เขตร้อนและโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) 2 แห่ง พบว่า การให้ยาเคเออี 609 ปริมาณ 30 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 วัน ในผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจำนวน 21ราย ค่าเฉลี่ยการขจัดเชื้อมาลาเรียของผู้ป่วยทั้งหมดคือ 12 ชั่วโมง

"อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเคเออี 609 ยังมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ จำนวน 14 ราย เป็นอาการคลื่นไส้มากที่สุด แต่ไม่รุนแรงและไม่ต้องหยุดยา เท่ากับว่าการให้ยาเคเออี 609 ปริมาณ 30 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 วัน สามารถขจัดเชื้อแบคทีเรียได้รวดเร็วในผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อมาลาเรียไม่ซับซ้อน ถือว่ายานี้เป็นความหวังในการรักษาหากเกิดเชื้อมาลาเรียดื้อยาอาร์ติซูเนตจนไม่สามารถใช้รักษาได้ แตะจะต้องมีการศึกษาต่อในระยะที่ 3 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มากขึ้น คาดว่าอีกประมาณ 3 ปีจึงจะสามารถผลิตเป็นยาได้"ศ.พญ.ศศิธรกล่าว