ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ลอนดอน - บรรดาประเทศในยุโรปและเอเชียเฝ้าระวัง หวั่นอีโบลาระบาดจากแอฟริกาตะวันตกไปทวีปอื่น ด้านแพทย์ไร้พรมแดนเตือนการระบาดมีแต่จะเลวร้ายลง

ฮ่องกงซึ่งเคยเผชิญการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส) เมื่อปี 2546 ประกาศมาตรการกักบริเวณในกรณีที่พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา แม้สตรีคนหนึ่งที่เดินทางกลับจากแอฟริกาและอาจมีอาการ ได้รับการตรวจสอบว่าไม่ติดเชื้อก็ตาม ออสเตรเลียกล่าวว่าเตรียมพร้อมอย่างดีหากไวรัสอีโบลาระบาดมาถึง หลังจากได้ประชุมแพทย์โรคติดต่อและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อหารือหนทางรับมือ แม้มีความเป็นไปได้ต่ำที่อีโบลาจะระบาดมาถึงออสเตรเลีย โดยหน่วยงานดูแลพรมแดนทุกแห่งอยู่ในสภาพเตรียมพร้อม ก่อนหน้านี้ออสเตรเลียได้เตือนเกี่ยวกับการเดินทางไปกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน

ด้านสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่าพร้อมรับมือภัยคุกคาม ด้วยการเตรียมอุปกรณ์และพร้อมรักษาผู้ป่วยหากพบผู้ติดเชื้อ กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดนกล่าวว่าการระบาดของไวรัสอีโบลาในกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ซึ่งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก มีแต่จะเลวร้ายลง พร้อมเตือนว่าไม่มียุทธศาสตร์ใดจะมารับมือการระบาดครั้งร้ายแรงของโลกได้

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ไพออต นักวิทยาศาสตร์เบลเยียมที่ร่วมค้นพบไวรัสอีโบลาเมื่อปี 2519 กล่าวว่แม้มีคนติดเชื้ออีโบลาบินไปยุโรป สหรัฐ หรือส่วนอื่นของแอฟริกา เขากคิดว่าไม่ทำให้ความเสี่ยงของการระบาดเพิ่มขึ้นมาก และเขาไม่กลัวที่จะนั่งติดกับผู้ติดเชื้อตราบใดที่ผู้ติดเชื้อไม่อาเจียนใส่เขา เพราะไวรัสนี้ระบาดด้วยการสัมผัสใกล้ชิด

นายไพออตเล่าว่าเคยเดินทางไปจังหวัดหนึ่งในซาอีร์ที่เกิดการระบาดของโรค และบางหมู่บ้านมีคนเสียชีวิตจากอีโบลา 1 ใน 10 บ้าง 1 ใน 8 บ้าง ซึ่งนักวิจัยสังเกตว่าการติดเชื้อครั้งนั้นระบาดในหมู่สตรีอายุ 20-30 ปีและเป็นกลุ่มก้อนอยู่แถวคลินิกที่คนเหล่านี้ไป ซึ่งปรากฏว่าไวรัสระบาดผ่านเข็มที่มีการนำกลับมาใช้และฉีดให้แก่หญิงที่ตั้งครรภ์

ด้านองค์กรการกุศล ซามาริทันเพิร์สของสหรัฐ ถอนเจ้าหน้าที่ที่ไม่จำเป็นออกจากไลบีเรียเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุผลว่ามีความไร้เสถียรภาพและประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาค เช่นเดียวกับพีซคอร์ปของสหรัฐที่ประกาศถอนอาสาสมัครหลายร้อยคนที่เข้าไปสอนหนังสือและทำกิจกรรมอื่นๆ ในทั้ง 3 ประเทศ โดยปัจจุบันมีอาสาสมัครพีซคอร์ป 102 คนสอนงานเกษตร สอนหนังสือ และงานเกี่ยวกับสาธารณสุขในกินี ส่วนในไลบีเรียมี 108 คน และในเซียร์ราลีโอนมี 130 คน

ขณะที่ไลบีเรียประกาศปิดโรงเรียนทุกแห่งและให้ข้าราชการที่ไม่จำเป็น หยุดงาน 30 วัน

ทั้งนี้ อีโบลาสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่วัน ด้วยอาการเป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน ท้องร่วง และในบางกรณีมีอวัยวะภายในล้มเหลว รวมถึงเลือดไหลไม่หยุด นับจากเดือนมีนาคมมีผู้ติดเชื้อ 1,201 คนและมีผู้เสียชีวิต 672 รายในกินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 สิงหาคม 2557