ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. หารือผู้บริหารอภ. และสหภาพอภ. แก้ไขปัญหาใน 3 ประเด็นหลักคือ ปัญหายาขาด การก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนที่สระบุรีและโรงงานผลิตยาที่รังสิต ยืนยันคงการผลิตยาจำเป็น 5 กลุ่ม อาทิ ยาต้านไวรัส ยาโรคเบาหวาน ยาจิตเวช ยาวัณโรค ยากำพร้าหรือยาจำเป็นฉุกเฉินต่างๆ กว่า 190 รายการ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ยาของโรงพยาบาลต่าง ๆ

วันนี้ (1สิงหาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เชิญคณะ ผู้บริหาร และสหภาพแรงงานฯ องค์การเภสัชกรรม มาหารือใน 3 ประเด็นหลักๆ ดังนี้ ประเด็นที่ 1.แนวทางการแก้ปัญหายาขาดแคน เป็นประเด็นที่หลายคนสนใจว่าองค์การเภสัชกรรมจะคงพันธกิจในเรื่องการดูแลยาไม่ให้ขาดแคลนได้อย่างไร  ขณะนี้องค์การเภสัชกรรผลิตยาอยู่ 193 รายการ  แบ่งเป็น 5 กลุ่มได้แก่  1.กลุ่มยาต้านไวรัส 2.กลุ่มยารักษาโรคสำคัญ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ต้องใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาทิ ยาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง 3.กลุ่มยาที่ผลิตตามนโยบาย  4.ยาจิตเวช ยาวัณโรค และ5.ยาอื่นๆ เช่น ยากำพร้าหรือยาจำเป็นฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมต้องคงการผลิตอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ยาของโรงพยาบาลต่างๆ

โดยว่าในปี 2558 นี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ให้องค์การเภสัชกรรมจัดทำแผนการผลิตยาให้ชัดเจน ผลิตตัวไหน เมื่อไหร่  ให้เวลาทำรายละเอียดการผลิตภายใน  2 สัปดาห์  ในหลักการยาเหล่านี้ต้องมีแผนการผลิตให้เพียงพอและชัดเจนชัดเจน หากจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิต เช่น การบรรจุยา ที่ต้องใช้สถานที่เพิ่มเติม ก็ให้หาแนวทางอื่นเพิ่มเติมด้วย เช่นประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มช่องทางผลิตเพิ่มเติม ซึ่งองค์การเภสัชกรรม โดยผู้บริหาร และสหภาพ รับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติม

ประเด็นที่ 2.เรื่องโรงงานผลิตวัคซีนที่จังหวัดสระบุรี  โดยเป็นการเสนอต่อเนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้า ในหลักการคือจะใช้งบประมาณเพิ่มเติม โดยใช้งบขององค์การเภสัชกรรม 59 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่เคยได้งบประมาณในโครงการนี้ 1411 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเกินที่ ครม. เคยอนุมัติไว้  จำเป็นต้องเสนอ คสช. พิจารณา ทราบว่าขณะนี้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คสช. แล้ว หากได้รับการอนุมัติจะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้าง 513 วัน ส่วนการผลิตวัคซีน ต้องปรับจูนเครื่องมือให้ได้มาตรฐานและระยะเวลาในการผลิตวัคซีนต้องใช้เวลา 500 วัน คาดว่าอีก 1,000 วันจะได้วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนเรียบร้อย

ประเด็นที่ 3.เรื่องการเดินหน้าโรงงานผลิตยาที่รังสิต ในหลักการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้แนวทางว่าให้ดำเนินการเปิดได้ภายใน 1 ปี ให้ปรับรายละเอียด ทั้งกระบวนการก่อสร้าง การปรับปรุงเครื่องจักรให้ทำงานได้ ปรับขบวนการตรวจสอบ และปรับการใช้เครื่องมือในการทำงาน ที่นำเสนอในวันนี้ ใช้เวลามากกว่า 1 ปี จึงมอบให้กลับไปทบทวนอีกครั้ง สัปดาห์หน้าจะนำเสนออีกครั้ง

“สำหรับยาที่เป็นประเด็นข่าว คือ 1.ยาต้านไวรัสเอดส์ ยืนยันว่ามีสต็อกอยู่ แต่ว่าการผลิตส่งตามงวดของ สปสช.ตอนนี้กำลังเร่งดำเนินการ คาดว่า สัปดาห์หน้าจะมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะผลิตให้ทันได้เมื่อไหรอย่างไร  2.ยาเบาหวาน ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้ไปทบทวนว่าจะเพิ่มการผลิตได้หรือไม่  หรือต้องไปประสานหน่วยงานอื่นเพื่อเพิ่มช่องทางการบรรจุ   องค์การเภสัชกรรมรับไปทำรายละเอียด  แต่ยืนยันว่าสำหรับโรงพยาบาลชุนชนในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 700 กว่าแห่ง ตอนนี้ กำลังการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ของโรงพยาบาลชุมชนที่ใช้ประมาณ 1.2 ล้านกล่อง แต่จะเพิ่มการผลิตได้อีกหรือไม่กำลังหาแนวทาง 3.ยาจิตเวชและยาวัณโรค ได้พยายามคงการผลิตไว้ ไม่ให้ขาดแคลน ประเด็นคือมียาหลายรายการที่โรงพยาบาลสั่งเข้ามา องค์การเภสัชกรรมจะนำความต้องการของแต่ละโรงพยาบาลมาจัดทำแผนการผลิตให้ทันความต้องการ ขณะนี้แก้ปัญหาได้มากแล้ว และจะพยายามเพิ่มกำลังการผลิตได้มากที่สุด” นพ.สุวัช กล่าว

ด้าน นายสมชาย ขำน้อย ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ขอบคุณปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ให้สหภาพแรงงานเข้าไปร่วมเป็นตัวแทนในการตรวจสอบการทำงาน ถือเป็นแนวทางที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของสหภาพฯมากที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์การเภสัชกรรม  ซึ่งขณะนี้เห็นว่าการจัดการภายในบางเรื่ององค์การเภสัชกรรมอาจทำไม่ได้ เช่น การก่อสร้างโรงงานยา และโรงงานวัคซีน เห็นว่าขบวนการจัดการภายในถึงทางตัน กระทบต่อผลผลิต และสังคมก็มองว่าองค์การเภสัชกรรมผลิตยาไม่ทัน จึงได้ยื่นหนังสือต่อ คสช.  เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อให้เร่งรัดหรือหาแนวทางแก้ไขให้โรงงาน 2 แห่งเดินหน้าไปได้เร็ว