ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.อภ. แถลงข่าวยันโครงการศูนย์ล้างไตไม่ทุจริต เลือก รพ.มหาสารคามอินเตอร์ เพราะรักษาเฉพาะทางด้านโรคไต และมีความพร้อม ส่วนเชิญเจ้าของ รพ. เป็นที่ปรึกษาเพราะมีความสามารถ และเป็นไปตามระเบียบ อภ. ย้ำโครงการเป็น

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 57 นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และนพ.ดำรัส โรจนเสถียร ที่ปรึกษาโครงการล้างไตของอภ. แถลงข่าวกรณีแพทย์ชนบทออกมาเปิดเผยถึงการจัดตั้งโครงการศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยให้เช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ ซึ่งเจ้าของโรงพยาบาลเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานโครงการ จึงเข้าข่าวฮั้วทุจริต ว่า สาเหตุที่เลือก รพ.มหาสารคามอินเตอร์ เพราะเป็นโรงพยาบาลที่เน้นรักษาโรคเฉพาะทาง คือ โรคไตวายเรื้อรัง และมะเร็ง จึงมีความพร้อมทั้งแพทย์ และเครื่องมืออุปกรณ์ ซึ่งรองรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอีก 4 จังหวัด โดยรอบมหาสารคามด้วย คือ นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด และ กาฬสินธุ์ เนื่องจากภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมาก เฉพาะ 5 จังหวัดก็มีผู้ป่วยที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้องราว 1,000 คน จึงเป็นกลุ่มตัวอย่างที่ดีสำหรับโครงการ โดยที่ อภ. ลงทุนเพียงแค่ค่าเช่าพื้นที่อัตราตารางเมตรละ 500 บาท/เดือนเท่านั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นอีก
       
“โครงการนี้เป็นหนึ่งในความรับผิดชอบชีวิตผู้ป่วยและสังคมของ อภ. และเป็นเจตนาดีที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ โดยเฉพาะผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเป็นการเพิ่มการดูแลผู้ป่วยหลังรับน้ำยาล้างไต สามารถรับคำปรึกษาปัญหาตลอดเวลาในการรักษา เป็นแหล่งเรียนรู้ทางการแพทย์ด้านโรคไตและการบริหารจัดการ กลไกทางการรักษา ยืนยันว่า การจัดเช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ และเชิญ นพ.ดำรัส โรจนเสถียร เจ้าของ รพ. ดังกล่าวเป็นที่ปรึกษาโครงการ ไม่มีการทุจริต เพราะเป็นไปตามข้อบังคับ อภ. ว่าด้วยการพัสดุฯ และแนวทางปฏิบัติของ อภ. ทุกอย่าง” ผอ.อภ. กล่าว
       
นพ.สุวัช กล่าวอีกว่า ส่วนที่ อภ. หันมาดำเนินการเรื่องศูนย์ล้างไตนั้น เพราะ อภ. ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พัฒนาระบบการรักษาโรคไตวายเรื้อรัง และจัดหาน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง และยาที่เกี่ยวข้อง มาตั้งแต่ปี 2551 จึงมีโครงการเพื่อพัฒนาระบบการรักษาโรคไตวายเรื้อรังทุกปี แต่พบว่าโครงการติดตามการให้บริการน้ำยาทางช่องท้องปี 2556 ยังต้องปรับปรุงเรื่องประสิทธิภาพการรักษาและการบริหารจัดการของโครงการหลายด้าน เช่น อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยยังสูงอยู่ คือ มากกว่าปีละ 2,000 ราย หรือร้อยละ 25 สูงกว่าอัตราตายเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 5 รวมถึงปัญหาการบริหารอย่าง การส่งน้ำยาที่ไม่สามารถตรวจสอบปริมาณและความต้องการใช้แบบเรียลไทม์ได้ อีกทั้งน้ำยาที่ใช้เป็นสินค้านำเข้ากว่าร้อยละ 80 จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำยาขาดแคลน
       
นพ.สุวัช กล่าวด้วยว่า หลังจากตนเข้ามารับตำแหน่งเมื่อต้นปีงบประมาณ 2557 เห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงต้องการพัฒนาปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามภาคกิจ อภ. ในการเป็นผู้จัดหาและให้บริการผลิตภัณฑ์ยาในระบบสาธารณสุข จึงเชิญ นพ.ดำรัส ซึ่งมีความรู้ความสามารถทั้งทางวิชาการและการปฏิบัติด้านการรักษาและกลไกการบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยโรคไต มีผลงานมากกว่า 20 ปี มาเป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน ซึ่ง นพ.ดำรัส ก็ได้ตอบรับและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ซึ่งตลอด 8 เดือน ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ ซึ่งคณะทำงานฯ เห็นชอบให้มีการจัดตั้งโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
       
นพ.สุวัช กล่าวอีกว่า ระยะแรกของโครงการเป็นโครงการนำร่องศึกษาวิจัยเพื่อสำรองน้ำยาล้างไต อุปกรณ์ต่างๆ ให้หน่วยบริการใกล้เคียง เพื่อไม่ให้น้ำยาล้างไตขาดแคลน และเป็นศูนย์การคัดกรองผู้ป่วยไต บูรณาการในการลดงบประมาณและความสูญเสียในระบบ โดยมุ่งเน้นการศึกษาในกลุ่มผู้ไตวายเรื้อรังที่รักษาด้วยวิธีล้างไตผ่านช่องท้องเป็นสำคัญ หากได้ผลดีจะสามารถเป็นต้นแบบในการขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ทั้งยังใช้เป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทดแทนไต และในระยะต่อไปจะมีการจัดตั้ง GPO Corner เพื่อแนะนำวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ อภ. และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรคไต หากได้ผลดีจะช่วยให้รัฐบาลลดค่าใช้จ่ายในระบบการรักษาผู้ป่วยโรคไตได้ปีละเกือบ 100 - 200 ล้านบาท และหากขยายไปยังภูมิภาคอื่นจะสามารถลดปัญหาและค่าใช้จ่ายต่างๆ มากขึ้น เกิดผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และลดอัตราการเสียชีวิตลง