ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.แจงไม่เคยแนะนำให้อภ.ทำโครงการล้างไต ชี้ผอ.อภ.ให้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง แจงการที่อภ.ไปเช่าพื้นที่ รพ. เอกชน พักน้ำยาล้างไต เป็นการเพิ่มขั้นตอนและค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น แถมที่อภ.กล่าวหาโครงการ CAPD สปสช. มีอัตราตายสูงกว่าสถิติทั่วโลกนั้น ก็ไม่จริง เปิดข้อเท็จจริงมีอัตราตายต่ำกว่า ด้านชมรมเพื่อนโรคไตชี้การจัดตั้งศูนย์ล้างไตไม่ใช่หน้าที่ของอภ. การคัดกรองผู้ป่วยก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานสาธารณสุข ไม่ใช่อภ. งานอภ.คือจัดหาและจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ผู้ป่วยได้ใช้ ไม่ขาดแคลนก็พอแล้ว 
       
5 ส.ค. 57 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณี นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ชี้แจงการเปิดโครงการศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยการเช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์นั้น ไม่มีการทุจริต ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการรักษาโรคไตวายเรื้อรังร่วมกับ สปสช. เพื่อแก้ปัญหาโครงการบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังล้างไตผ่านช่องท้องของ สปสช. ว่า ข้อมูลที่ผอ.อภ.ให้นั้นไม่เป็นความจริง เป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จกับสังคม ทำให้ผู้ป่วยไตวาย CAPD ที่มีมากกว่า 17,000 ราย สับสน ตื่นตระหนก สร้างความเสียหายกับ สปสช. เพื่อกลบเกลื่อนข่าวปัญหาการบริหารงานภายในขององค์การเภสัชกรรม สปสช.ไม่เคยแนะนำให้อภ.ทำโครงการเช่า รพ.เอกชน เพื่อตั้งศูนย์สนับสนุนการล้างไตและฟอกเลือด เพราะรู้ดีว่าการตั้งศูนย์บริการผู้ป่วยไตวายโดยตรง ไม่ใช่หน้าที่ของอภ. สปสช. ไม่เคยมีนโยบายให้ รพ.เอกชน หรืออภ.ดำเนินการให้บริการผู้ป่วย CAPD ยกเว้นกำลังนำร่องสร้างเครือข่ายอยู่แห่งเดียวที่ จ.เชียงใหม่ ตามมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการทดแทนไตของ สปสช. เพราะเป็นการให้บริการที่ต้องควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานอย่างใกล้ชิด การจัดส่งน้ำยา CAPD ให้ผู้ป่วยไตวายที่ สปสช. มอบหมายให้อภ.ดำเนินการ เป็นการจัดส่งน้ำยาจากคลังเก็บน้ำยาในกรุงเทพฯ ปีละกว่า 20 ล้านถุงไปส่งให้ถึงบ้านผู้ป่วยโดยตรง ไม่มีความจำเป็นต้องมีการพักน้ำยาระหว่างทางไว้ที่ รพ.เอกชน ในพื้นที่ เพราะเป็นการเพิ่มขั้นตอนและเพิ่มค่าใช้จ่ายให้เอกชนโดยไม่จำเป็น 

“การที่ ผอ.อภ. ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้รับผิดชอบการจัดบริการผู้ป่วยโดยตรง กล่าวอ้างว่าโครงการบริการ CAPD ของ สปสช. มีอัตราตายของผู้ป่วยปีละกว่า 2,000 คน หรือตายร้อยละ25 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าสถิติทั่วโลก เป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ทำให้ผู้ป่วย CAPD ตื่นตระหนกและสร้างความเสียหายกับ สปสช. โดยไม่รับผิดชอบ นั้น ข้อเท็จจริงขณะนี้ สปสช. มีผู้ป่วย CAPD ทั้งรายเก่าและใหม่อยู่ 17,281 คน และหนึ่งปีผ่านมามี ผู้ป่วยเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆ 1,279 คน หรือคิดเป็นเพียงร้อยละ 7 ซึ่งต่ำกว่าสถิติทั่วโลกที่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยรายใหม่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ต่อปี” รองเลขาธิการสปสข. กล่าว                

ด้าน นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่มีข่าวว่าองค์การเภสัชกรรม ใช้เงินถึงแปดล้านกว่าบาท ไปเช่าพื้นที่ รพ.เอกชน ที่เจ้าของเป็นที่ปรึกษาโครงการของตนเอง เพื่อจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตทางช่องท้อง และฟอกเลือดนั้น ชัดเจนว่า ผอ.องค์การเภสัชกรรม ในยุคปัจจุบันนี้ไม่เข้าใจถึงภารกิจหลักของการเป็นองค์การเภสัชกรรมของรัฐ ที่ต้องมีหน้าที่ผลิตยาจำเป็นเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย  ตลอดจนการจัดหาและสำรองเวชภัณฑ์ต่างๆที่จำเป็นเพื่อความมั่นคงของประเทศ

“ผอ.องค์การเภสัชกรรม ต้องเข้าใจหน้าที่หลักขององค์กร ต้องทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้เอกชนมาแสวงหาประโยชน์ ในกรณีน้ำยาล้างไตทางช่องท้องนั้น หน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม คือ ต้องทำเรื่องการจัดหาน้ำยาให้เพียงพอและจัดส่งให้ถึงบ้านผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด  ส่วนการที่จะเปิดศูนย์เพื่อการคัดกรองผู้ป่วยไต โดยอ้างว่าเพื่อเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทดแทนไต ตนเห็นว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยบริการสาธารณสุข และ สปสช. ไม่ใช่หน้าที่ขององค์การเภสัชกรรม ”

แหล่งข่าวกล่าวว่า รพ. มหาสารคามอินเตอร์ เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของ และอยู่ระหว่างคดีความถูกเจ้าของเดิมฟ้องร้องข้อหาฉ้อโกง และ นพ.ดำรัส  โรจนเสถียร กรรมการบริษัทปัจจุบัน เป็นผู้ลงนามให้องค์การเภสัชกรรมเช่าเป็นเวลา 18 เดือนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สค. 2557 ในวงเงิน 8.316 ล้านบาท ทั้งๆที่ เป็นที่ปรึกษาโครงการขององค์การเภสัชกรรมอยู่