ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันที่ 4 ส.ค.57 ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 13 การประชุมวิชาการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กครั้งที่ 11 และการประชุมวิชาการวิกฤตสุขภาพจิต ครั้งที่ 5 ประจำปี 2557 เรื่อง สังคมเปลี่ยนไว ใส่ใจสุขภาพจิต (Rapid Social Change and Mental Health) ซึ่งจัดขึ้น โดย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระหว่างวันที่ 4-6 ส.ค.2557 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส รร.ดิเอ็มเพลส จ.เชียงใหม่ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ปฎิบัติงานและผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ทักษะ แนวคิด และประสบการณ์การทำงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมด้านจิตใจให้กับประชาชนในประเทศ เพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดี อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่พบบ่อย มีการคาดการณ์ว่าประชากรทั่วโลกถึง 1 ใน 4 หรือประมาณ 450 ล้านคนมีปัญหาจิตเวชในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และการอยู่ร่วมในสังคม การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม นับเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ทั้งนี้ แม้ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่า การเข้าถึงบริการยังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่น โรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่พบว่าจะมีการจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าคนทั่วไปถึง 20 เท่า รวมทั้งจะก่อให้เกิดความสูญเสียด้านสุขภาพของประชากรโลกเป็นเท่าตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยในประเทศไทย โรคซึมเศร้า เป็นสาเหตุสำคัญ อันดับ 4 ของการสูญเสียปีสุขภาวะในผู้หญิงไทย และเป็นอันดับ 10 ในผู้ชายไทย ซึ่งจากรายงานของกรมสุขภาพจิต พบว่ามีอัตราการเข้าถึงเพียง ร้อยละ 32.23 โดยคาดว่ายังมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอีกกว่า 1.1 ล้านคนยังไม่ได้รับบริการ

หนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงสาธารณสุข คือ การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี เข้าถึงบริการได้ง่าย ได้รับบริการที่ดีกว่า มีคุณภาพและมาตรฐานเท่าเทียมกันทั่วประเทศ (Better service) ภายใต้แนวคิด ได้พบหมอ รอไม่นาน อยู่ใกล้ไกล ได้ยาเดียวกัน โดยใช้ยุทธศาสตร์บริหารจัดการร่วมกันเป็นเขตบริการสุขภาพ 12 เขต และกทม. เป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางออกไปที่เขต เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดและรู้ปัญหาของพื้นที่ได้ดี ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของพื้นที่ได้อย่างตรงจุด ตลอดจนเป็นการขยายผลไปถึงเครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค ลดการเจ็บป่วย และมีคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้น รองปลัด สธ.กล่าว

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ทุกคนมีโอกาสป่วยทางจิต แต่สามารถรักษาได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม ส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ละปี พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยทางจิตเพิ่มมากขึ้น และจากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตระดับชาติ พ.ศ. 2551 พบ ความชุกของปัญหาสุขภาพจิตหลัก มีถึงร้อยละ14 ได้แก่ โรคติดสุราและยาเสพติด โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคจิต การดูแลสุขภาพจิตและการเข้าถึงบริการจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิต ทั้งนี้ ในปี 2558 กรมสุขภาพจิตได้เตรียมเพิ่มคุณภาพระบบบริการโรคจิตเวชที่สำคัญในระบบสาธารณสุข เน้นการคัดกรอง บำบัดรักษา และติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนป้องกันปัญหาในกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ป่วย ภายใต้การดำเนินงานสุขภาพจิตในเขตบริการสุขภาพของประเทศ โดยจะพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของระบบบริการควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่เครือข่ายบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยที่มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชสามารถเข้าถึงและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนมีระบบสารสนเทศการบริการผู้ป่วยจิตเวชในเขตบริการสุขภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และเชื่อมโยงกันได้อย่างเป็นระบบทั้งประเทศ