ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวบไซต์คมชัดลึก -แม่อุ้มบุญน้องแกรมมี่อยากบัตรทอง ปลื้มหลายฝ่ายยื่นมือช่วยเหลือ  บุกจับคลินิกสูติเพชรบุรีตัดใหม่หลังเบาะแสชี้ทำอุ้มบุญ

5 ส.ค.2557 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบที่บ้านพักของนางสาวภัทรมล บัวจันทร์ แม่อุ้มบุญของน้องแกรมมี่ เพื่อติดตามชีวิตความเป็นอยู่ที่ห้องเช่าชั้นเดียวภายในซอยจ่าบรรณ ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จ.ชลบุรี เมื่อไปถึงพบนางพิชาญา นาธงชัย อายุ 53 ปี มารดาของนางสาวภัทรมล อาชีพขายข้าวแกง ซึ่งได้เปิดเผยว่า มีอาชีพขายข้าวแกงในตอนเช้า ฐานะทางบ้านก็พอมีพอกิน มีหลาน 3 คน รวมทั้งน้องแกรมมี่ ที่เกิดจากการอุ้มบุญ

"นางสาวภัทรมล บุตรสาวนั้นในช่วงเย็นจะขายอาหารประเภทยำทุกชนิดที่หน้าบ้าน โดยหลานอีก 2 คนจะช่วยกันเลี้ยงน้องแกรมมี่ เพื่อให้แม่ขายของช่วงเย็น ทางบ้านนั้นไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก พออยู่พอกินเพียงแต่มีภาระการรักษาน้องแกรมมี่จากาดาวน์ซินโดรม อยากให้หายจากโรคร้าย จึงได้ไปประสานทางมูลนิธิช่วยเหลือเด็กให้ทำการช่วยเหลือหาทางรักษา" กล่าวและว่า

สภาพจิตใจของนางสาวภัทรมล บุตรสาว นั้นดีขึ้นและดีใจ ซาบซึ้งในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ที่ทางสื่อมวลชนทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์ที่ได้นำเสนอข่าวของน้องแกรมมี่ทำให้มีการรักษาที่ดี ความเป็นอยู่ของลูกดี แต่ที่จริงครอบครัวก็อยู่ได้อยู่แล้วแต่อยากให้ช่วยเรื่องนม แพมเพิล และอะไรเกี่ยวกับเด็กที่เราอยากได้ เราได้ขอความช่วยเหลืออีกอย่างก็คืออยากได้บัตรสามสิบบาทและบัตรคนพิการแค่นี้ก็ภูมิใจแล้ว

จับคลินิกสูติย่านเพชรบุรีตัดใหม่หลังเบาะแสชี้ทำอุ้มบุญ

เมื่อเวลา 14.30 น. น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) พร้อมด้วย ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และเจ้าหน้าที่สบส. นำทีมเข้าตรวจสอบคลินิกเวชกรรมเฉพาะทาง สาขาสูตินรีเวช ย่านเพชรบุรีตัดใหม่ โดยน.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า การเข้าตรวจสอบคลินิกแห่งนี้ เนื่องจากได้รับรายงานว่าเป็นคลินิกที่ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และทำการอุ้มบุญกรณีแม่ของน้องแกมมี่ หญิงไทยอุ้มบุญทารกโดยดำเนินการผ่านบริษัทตัวแทน โดยได้รับว่าจ้างจากคู่สามีภรรยาชาวออสเตรเลีย แต่เด็กเกิดภาวะดาวน์ซินโดรม และเป็นโรคหัวใจ

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบคลินิกดังกล่าวได้รับอนุญาตตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และแพทย์ที่ทำการอุ้มบุญก็ได้รับการอนุญาตของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม พบการกระทำความผิดตามประกาศแพทยสภาในเรื่องการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ที่ระบุห้ามไม่ให้บุคคลที่ไม่ใช่ญาติมาทำการอุ้มบุญแทนและห้ามไม่ให้มีการรับค่าจ้าง ซึ่งคลินิกแห่งนี้มีการทำอุ้มบุญให้หญิงที่ไม่ใช่ญาติและรับค่าจ้างถือว่าผิดชัดเจน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเวชระเบียนไม่พบชื่อของแม่ของน้องแกมมี่ แต่คาดว่าอาจมีการเปลี่ยนชื่อ ดังนั้น จึงขอเวลา 1-2 วัน ในการตรวจสอบชื่อว่ามีการใช้ชื่อปลอมหรือไม่ และมีชื่อที่เข้าข่ายเป็นแม่ของแกมมี่หรือไม่

“เบื้องต้นคลินิกแห่งนี้มีความผิดในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เพราะหญิงอุ้มบุญไม่ใช่ญาติและหญิง โดยมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนแพทย์ผู้ทำ ขณะนี้ได้ส่งชื่อให้ทางแพทยสภาตรวจสอบในเรื่องจริยธรรม เพราะผิดประกาศของแพทยสภาด้วย สำหรับคลินิกดังกล่าวเปิดให้บริการมาแล้ว 5 ปี โดยมีอาจารย์แพทย์ที่ให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หมุนเวียนเข้ามาประมาณ 20 คน ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบต่อไปว่า หากแพทย์รายอื่นให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ อย่างการอุ้มบุญ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย หากพบจะถือว่าผิดพ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ จำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 หมื่น หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งจะมีการตรวจสอบต่อไป”น.ต.นพ.บุญเรืองกล่าว

ต่อข้อถามควรมีการผลักดันกฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า หากจะมีกฎหมายมาช่วยก็ขอให้มีการผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ พ.ศ....โดยร่างกฎหมายนี้จะช่วยคุ้มครองเด็กโดยตรง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องช่วยกันทุกฝ่าย โดยในเรื่องการควบคุมการโฆษณาของเอเจนซีผ่านเว็บไซต์ต่างๆนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ส่วนกระทรวงต่างประเทศต้องดูเรื่องการนำเด็กออกนอกประเทศว่าเกี่ยวโยงกับการอุ้มบุญหรือไม่ ขณะที่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงในมนุษย์(พม.)จะดูในเรื่องกฎหมายค้ามนุษย์ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะเป็นการดูแล และควบคุมหน้าที่ของแพทย์เป็นหลัก ซึ่งทั้งหมดจะต้องช่วยเหลือและทำงานร่วมกัน