ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

6 ส.ค. 57 เวบไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ รายงานว่า นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบล่า ร่วมกับทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าติดตามการระบาดของเชื้ออีโบล่าอย่างใกล้ชิด โดยองค์การอนามัยโลกได้สรุปยอดผู้ป่วยล่าสุดในวันที่ 4 ส.ค. พบป่วยแล้วทั่วโลก 1,603 ราย เสียชีวิต 887 ราย รายล่าสุดพบในประเทศไนจีเรีย ทั้งนี้โรคอีโบล่ายังคงมีการระบาดอยู่จำกัดในทวีปแอฟริกาเท่านั้น สำหรับประเทศไทยแม้ว่าขณะนี้จะยังไม่พบผู้ป่วยและมีความเสี่ยงต่ำที่เชื้ออีโบล่าจะระบาด แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาหรือรักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาประคับประคองตามอาการ ให้ผู้ป่วยพ้นระยะอันตรายเท่านั้น เราจึงไม่ประมาท และดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังโรค และการเตรียมความพร้อมในการวินิจฉัยดูแลผู้ป่วย ใน 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.การเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ ได้แก่ กินี ไลบีเรีย และเซียราลีโอน หากมีไข้ให้สอบสวนโรคทุกราย และส่งทีมเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในสนามบินนานาชาติ 5 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา เชียงใหม่ สุวรรณภูมิ และดอนเมือง

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า 2.การเตรียมห้องแยกโรคในโรงพยาบาลทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมมาตรฐานดูแลผู้ป่วย โดยใช้มาตรฐานเดียวกับโรคซาส์ หรือโรคติดต่ออันตรายอื่นๆ และ 3.ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เตรียมความพร้อมในการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการ โดยร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศเพื่อวิเคราะห์การติดเชื้อไวรัสนี้ด้วย และสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ส.ค. มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดจำนวน 6 ราย จากการตรวจสอบไม่พบว่าติดเชื้อแต่อย่างใด

เมื่อถามว่าหากพบชาวไทยติดเชื้อจากต่างประเทศ จะมีการนำตัวกลับมารักษาภายในประเทศเช่นเดียวกับสหรัฐฯ หรือไม่นั้นนพ.โสภณ กล่าวว่า หากเกิดกรณีเช่นนั้น อย่างแรกก็ต้องมีการถามความเห็นผู้ป่วยว่า มีความประสงค์กลับมารักษาตัวในประเทศไทยหรือไม่ หากต้องการกลับมารักษาตัวในประเทศไทย ก็ต้องมีการพิจารณาร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่งเกี่ยวกับการให้การรักษา ทั้งนี้ตนมั่นใจระบบสาธารณสุขและศักยภาพของแพทย์ไทย ว่าสามารถรับมือและให้การรักษาได้อย่างแน่นอน