ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.เตรียมเสนอ คสช.แก้ปัญหา “กองทุนรักษาพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสถานและสิทธิ” หลังประสานข้อมูล สธ.แก้ปัญหาไม่คืบ ทำ อากง อาม่า และชนเผ่า กว่า 9 หมื่นคนยังถูกลอยแพ ไร้สิทธิ์รักษาพยาบาล ขณะที่ ศปส.เผย ผลกระทบหลัง สธ.แนะซื้อ “บัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว” ทำกลุ่มคนเหล่านี้เสียสิทธิพิจารณาขอคืนสัญชาติไทย พร้อมเตรียมเสนอขอขยายมติ ครม.ปี 53 ให้ “กองทุนรักษาพยาบาลที่มีปัญหาสถานและสิทธิ์” ครอบคลุมกลุ่มคนที่ตกหล่น   

7 ส.ค. 57 นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ภาคประชาชน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีวาระการพิจารณา “แนวทางการจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์” โดยเฉพาะในด้านการประสานข้อมูลเพื่อให้กลุ่มคนที่ได้รับการยืนยันจากสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทยว่ายังเป็นบุคคลที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิ จำนวน 95,071 คน ที่ถูกถอดสิทธิการรักษาพยาบาลจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้มีระบบรักษาพยาบาลรองรับ ภายใต้กองทุนรักษาพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ ที่มีการจัดตั้งขึ้นตามมติ ครม.เมื่อปี 2553 ซึ่งมอบให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการ

นายนิมิตร์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่ถูกถอดสิทธิการรักษาพยาบาลจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นบุคคลที่ยังรอการพิสูจน์สถานะ ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนต่างด้าว แต่เป็นคนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานแล้ว อย่างคนจีนที่เป็นอากง อาม่า รวมถึงคนชนเผ่า ที่เคยได้รับเลข 13 หลัก ซึ่งในช่วงแรกของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้มีการนำกลุ่มคนเหล่านี้ขึ้นทะเบียนในระบบ แต่ภายหลังสำนักทะเบียบราษฎร์ได้ตรวจสอบและยืนยันว่ากลุ่มคนเหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิสถานะทำให้ไม่เข้าข่าย เนื่องจากตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุว่าเป็นสิทธิการรักษาพยาบาลให้กับคนไทย จึงต้องถูกถอดสิทธิ์ไป และกลุ่มคนเหล่านี้ตามระบบจะได้รับการขึ้นทะเบียนในกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์แทน แต่ขณะนี้กลับไม่มีการขึ้นทะเบียนและยังถูกลอยแพอยู่ซึ่งเป็นปัญหา

ทั้งนี้ที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้เมื่อไปใช้บริการยังสถานพยาบาลแทนที่จะได้รับการรักษาฟรีภายใต้กองทุนรักษาพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ แต่กลับได้รับการแนะนำจากสถานพยาบาลที่ผลักให้ซื้อบัตรสุขภาพแรงงานต่างด้าวแทน ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนไทย ไม่ใช่แรงงานต่างด้าว แม้ว่าบางสถานพยาบาลจะให้การรักษาฟรี ตามคำสั่ง สธ. ที่ให้ดูแลคนเหล่านี้ตามด้านมนุษยธรรม แต่ก็มีปัญหาอีกว่าทางสถานพยาบาลเองก็ไม่รู้ว่าจะไปเบิกค่ารักษาได้ที่ไหน ต้องแบกรับค่ารักษาเอง เรื่องนี้จึงต้องมีการบูรณการใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาและเพื่อให้การดูแลสิทธิรักษาพยาบาลมีความต่อเนื่อง

“ที่ประชุมบอร์ด สปสช.ได้หารือเพื่อเสนอนำเรื่องนี้เสนอต่อทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้เกิดการบูรณาการสิทธิร่วมกัน โดยเฉพาะข้อมูล ไม่ให้เป็นปัญหา เนื่องจากในปี 2558 นี้ ได้รับแจ้งจากสำนักทะเบียบราษฎร์ว่า จะมีผู้ที่ได้รับคืนสัญชาติไทยที่ขึ้นทะเบียนกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิย้ายกลับมาในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วหน้าเพิ่มเติมอีก จากที่ขณะนี้มีจำนวน  95,071 คน ถูกลอยแพและทาง สธ.ต้องขึ้นทะเบียนเข้ากองทุนรักษาพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ จำเป็นต้องมีการประสานข้อมูลกับทาง สธ. แต่ที่ผ่านมากลับมีปัญหาในการดำเนินการกับทาง สธ.ในระยะหลังจนเกิดกรณีข้างต้นขึ้น” กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ที่สุดแล้ว เห็นว่าควรดึงกองทุนรักษาพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ สธ. กลับมาให้ สปสช.ดูแล ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องทั้งด้านฐานข้อมูลกรณีการย้ายหรือเปลี่ยนสิทธิที่กำลังเป็นปัญหาขณะนี้ รวมถึงไปถึงการจัดการงบประมาณที่นำมารวมบริหารเพื่อเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข บริหารความเสี่ยงโรคค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งกองทุนนี้เป็นเพียงแค่กองทุนรักษาพยาบาลชั่วคราว เพราะในที่สุดต้องยุบไปเนื่องจากแต่ละปีจะมีผู้ที่ได้รับการพิสูจน์สถานนะและคืนสิทธิ

นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้จัดการโครงการพัฒนารูปแบบการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิภายใต้ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า ขณะนี้การแก้ไขปัญหาการถอดสิทธิรักษาพยาบาลระบบหลักประกันสุขภาพของบุคคลที่รอการพิสูจน์สถานะและสิทธิยังไม่คืบหน้า ภายหลังจากที่ได้มีการตรวจสิทธิระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกองทุนรักษาพยาบาลบุคคคที่รอพิสูจน์สถานะและสิทธิจำนวน 160,000 คน ในจำนวนนี้ 80,000 คน เป็นผู้ที่มีรายชื่อซ้ำซ้อน เหลืออีก 70,000 คนที่ไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลใดและถูกถอดสิทธิ์ซึ่งรอการแก้ไข

“ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากส่วนกลาง โดย สธ.และ สปสช. ที่มีปัญหาการประสานเชื่อมโยงข้อมูลจนส่งผลกระทบทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เสียสิทธิ์รักษาพยาบาล และในกรณีของกลุ่มชนเผ่า หากซื้อบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวตามที่โรงพยาบาลแนะนำก็จะเสียสิทธิขอคืนสัญชาติไทยของทางกรมการปกครอง ซึ่งตรงนี้คนกลุ่มนี้เขาไม่รู้และกำลังเป็นปัญหา” นายวิวัฒน์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามในวันที่ 15 สิงหาคม นี้ ทาง ศปส.จะจัดสัมมนาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพูดคุยและหาทางออก โดยเบื้องต้นจะเสนอให้มีการขยายมติ ครม.เมื่อปี 2553 ให้ครอบคลุมคนที่ตกหล่นเหล่านี้ รวมถึงขอให้แก้ไขความเหลื่อมล้ำสิทธิรักษาพยาบาล.