ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพยื่นหนังสือและหลักฐานให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบการดำเนินงานของ ผอ.อภ. หลังพฤติกรรมส่อทุจริต ทั้งการจัดสร้างโรงงานยารังสิตล่าช้า และเอื้อประโยชน์ต่อผู้รับจ้างที่ทำผิดสัญญา การเช่าพื้นที่รพ.เอกชนของที่ปรึกษาเพื่อตั้งศูนย์ล้างไต ทั้งที่ไม่ใช่ภารกิจของอภ. แถมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ.

7 ส.ค. 57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, กลุ่มศึกษาปัญหายา, ชมรมเภสัชชนบท, มูลนิธิเภสัชชนบท และ ชมรมแพทย์ชนบท ขอร้องเรียนต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ตรวจสอบ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม

นพ.วชิระ บถพิบูลย์

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ตัวแทนจากชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ประเด็นที่ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบการทำงานขององค์การเภสัชกรรม ภายใต้การบริหารงานของ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. ด้วยปรากฎมีพฤติกรรมส่อทุจริตและทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ดังนี้

1.การก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิต ที่ได้ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2552 โดยกลุ่มกิจการร่วมค้าแอสคอน ทากาซาโก ผู้รับจ้างไม่ได้ก่อสร้างให้แล้วเสร็จถูกต้องตามแบบที่กำหนด และนพ.สุวัช ก็มีพฤติกรรมส่อทุจริต ทั้งการไม่ปรับผู้รับจ้าง ไม่เร่งรัดให้เป็นผู้ทิ้งงาน และยังจ้างบริษัทในเครือกลับมาดำเนินการก่อสร้างใหม่ ถือเป็นการหน่วงเหนี่ยว ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่ออภ. เพราะโรงงานผลิตยาที่รังสิตไม่สามารถสร้างเสร็จตามกำหนด ส่งผลเครื่องจักร อุปกรณ์ราคาแพงจำนวนมากเสื่อมเพราะไม่ได้ใช้งาน และทยอยหมดอายุรับประกัน กระทบต่อการผลิตยาของประเทศ และยะงต้องเสียค่าสาธารณูปโภคที่โรงงานยารังสิตเดือนละหลายแสนบาทโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโรงงานเลย

2.การเช่าสถานที่รพ.มหาสารคามอินเตอร์ จ.มหาสารคาม เป็นเงิน 8 ล้านบาท ใน 18 เดือน เพื่อทำเป็นศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ก็มีพฤติกรรมส่อทุจริต และมีผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งการเช่าพื้นที่จากนพ.ดำรัส โรจนเสถียร ทั้งที่เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน CAPD หรือน้ำยาล้างไตของอภ. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างงที่ไม่โปร่งใส หากจะอ้างว่าเป็นโครงการวิจัยจึงไม่ต้องมีการเสนอราคาแข่งขัน ก็ไม่เป็นตรงกับสิ่งที่ดำเนินการ เพราะ สิ่งที่นพ.สุวัชทำ เป็นการไปเช่าสถานที่ ไม่ได้เป็นการจ้างวิจัย

นพ.วชิระ กล่าวว่า นอกจากนี้ในการจ้างวิจัยของ อภ.ที่ผ่านมา เช่นการจ้างวิจัยความพึงพอใจของลูกค้า ก็มีการดำเนินการอย่างโปร่งใส ให้มีหลายบริษัทเข้ามาเสนอราคา ขณะเดียวกันข้อบังคับของ อภ.ในการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในส่วนภูมิภาค กำหนดให้ขอความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของสถานที่ และอัตราค่าเช่าจากจังหวัดนั้นๆ เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย  แต่การนี้ อภ.ไม่ได้ดำเนินการ แสดงถึงความเร่งรีบและไม่สุจริต ที่สำคัญการตั้งศูนย์ดังกล่าวไม่เป็นภารกิจของอภ. โครงการนี้จึงนาจะส่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้รพ.มหาสารคามอินเตอร์ ซึ่งเป็นรพ.เอกชน ที่มีนพ.ดำรัส เป็นกรรมการผู้จัดการ

“8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ เห็นถึงความไม่ชอบธรรมดังกล่าว จึงได้ยื่นหนังสือและหลักฐานเพื่อให้ผู้ว่าการตรวจเงิจแผ่นดิน ดำเนินการตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต และเบียดบังผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติมากกว่านี้  และขอเรียกร้องให้ นพ.สุวัช ผอ.อภ. หยุดพฤติกรรมทุจริตดังกล่าว พิจารณาตนเองได้แล้วว่าได้ทำลายระบบความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศไปมากแค่ไหน ควรลาออกเพื่อรับผิดชอบปัญหาดังกล่าวได้แล้ว” นพ.วชิระ กล่าว