ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส หนุนพัฒนาคุณภาพประชากรแม่และเด็กตั้งแต่ตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ การคลอด และเลี้ยงดูให้เติบโตมีพัฒนาการสมวัย ประกาศนโยบาย 9 ข้อ เพื่อสร้างสุขภาพดีอย่างยั่งยืน

นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในงานมหกรรมยกระดับสุขภาพสตรีและเด็กเพื่อสร้างการเข้าถึงบริการที่เท่าเทียม เทิดไท้ราชินี ณ ศูนย์โอทอป เทศบาลตำบล บูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาคุณภาพประชากรกลุ่มแม่และเด็กไทยให้ดีขึ้นด้วยการพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการสาธารณสุข การจัดระบบบริการที่ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงสู่ชุมชนให้มีส่วนร่วมในรูปแบบชมรมสายใยรักแห่งครอบครัว ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินงานพบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.5 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 47.5 ในปี 2555 การฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์ร้อยละ 52 ในปี 2555 เด็กแรกเกิดถึง 5 ปีมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 70.3 ในปี 2550

โดยในส่วนของสถานการณ์งานอนามัยแม่และเด็ก จังหวัดนราธิวาส ปี 2557 พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น อาทิ การฝากครรภ์ครั้งแรกก่อน 12 สัปดาห์ ร้อยละ 75.70 ภาวะโลหิตจางในหญิงตั้งครรภ์ ร้อยละ 14.10 ยังสูงกว่าเป้าหมายไม่เกิน ร้อยละ 10 ส่วนหนึ่งเกิดจากแม่มีบุตรหลายคน และไม่กินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก เพราะมีความเข้าใจผิดว่าจะทำให้ลูกตัวโต คลอดยาก การคลอดกับ ผดุงครรภ์โบราณลดลงเหลือ ร้อยละ1.20 เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์มีการเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น และผดุงครรภ์โบราณเป็นเครือข่ายที่ดีในการดูแลช่วยเหลือสตรี ช่วยส่งต่อหญิงตั้งครรภ์มาสถานบริการ สำหรับปัญหาทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม พบร้อยละ 7.40 ด้านพัฒนาการเด็ก จังหวัดนราธิวาส พบเด็กมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละ 99.15ข้อมูลการเฝ้าระวังการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการและระดับสติปัญญาพบว่า เด็กปฐมวัยมีรูปร่างสูงดี สมส่วน ร้อยละ 68.5 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายคือร้อยละ 70 พบเด็กค่อนข้างเตี้ยและเตี้ย ร้อยละ 17.18ค่อนข้างผอมและผอม ร้อยละ 10 อ้วนและเริ่มอ้วน ร้อยละ 5.80

นพ.ณัฐพร กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยเห็นความสำคัญที่จะให้แม่ลูกปลอดภัยจากการตั้งครรภ์และการคลอด ลูกได้รับการเลี้ยงดูให้เจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย มีระดับเชาว์ปัญญาเทียบเท่ามาตรฐานสากล จึงร่วมกับจังหวัดนราธิวาส ประกาศนโยบาย 9 ข้อ เพื่อยกระดับสุขภาพสตรีและเด็ก ประกอบด้วย 1) สร้างพ่อแม่คุณภาพ ก่อนมีบุตรเข้ารับบริการตรวจร่างกายและรับความรู้ในโรงเรียนพ่อแม่ 2) สร้างการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม โดยให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนฝากครรภ์เร็วและมาเป็นคู่ได้ทุกที่ทุกสิทธิ์

3) สร้างเด็กปลอดโรคพันธุกรรมและโรคติดเชื้อโดยแม่ขณะตั้งครรภ์ได้รับการตรวจเลือด และเพื่อป้องกันโรคธาลัสซีเมีย เอดส์ เอ๋อ ได้รับยาเสริมไอโอดีนและวิตามินเสริมธาตุเหล็ก 4) สร้างภูมิต้านทานทางสังคมแก่เด็ก ผ่านการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ด้วยความรักความผูกพันได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดและอาหารตามวัย 5) สร้างเด็กฉลาดทางทางปัญญาและอารมณ์ ด้วยการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสมของพ่อแม่ผ่านกระบวนการกิน กอด เล่น เล่า

6) เด็กได้รับการคัดกรอง และส่งเสริมพัฒนาการ หากพัฒนาการล่าช้าได้รับการแก้ไข 7) เด็กได้รับการฝึกทักษะชีวิต ผ่านการจัดกิจกรรมในคลินิกเด็กดีและศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ 8) สตรีและเด็กได้รับบริการ ฝากครรภ์คุณภาพ ห้องคลอดคุณภาพ คลินิกเด็กดีคุณภาพและศูนย์เด็กเล็กคุณภาพ และ 9) ชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างเด็กไทยแข็งแรง ฉลาด อารมณ์ดี และมีความสุข

"ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาสได้ไห้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพเด็ก 0-5 ปี โดยเน้นคุณภาพสถานบริการทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และคลินิกสุขภาพเด็กดีคุณภาพ ซึ่งเด็กในกลุ่ม 0-2 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชนมาใช้บริการที่คลินิกสุขภาพเด็กดีเป็นประจำ การให้บริการที่มีคุณภาพจะสามารถคัดกรองพัฒนาการ หากพบล่าช้าสามารถให้การกระตุ้นและส่งต่อเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสมีพัฒนาการที่สมวัย คลินิกสุขภาพเด็กดีคุณภาพจะเป็นสถานที่ที่ดูแลและส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ และพัฒนาให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา และให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังการเจริญเติบโตด้านภาวะโภชนาการ มีการเฝ้าระวังและโครงการแก้ปัญหา และส่งเสริมภาวะโภชนาการเด็ก 0-5 ปีอย่างต่อเนื่อง” นพ.ณัฐพร กล่าว

นพ.ณัฐพร กล่าวต่อว่า การดำเนินงานพัฒนาศูนย์เด็กเล็กคุณภาพในปี 2556 ได้มีการเริ่มปรับเกณฑ์มาตรฐาน ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่ และศูนย์เด็กเล็กปลอดโรค โดยบูรณาการเกณฑ์ทั้ง 2 อย่าง เป็นศูนย์เด็กคุณภาพที่มีเกณฑ์การประเมิน 7 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านบุคลากร 2) ด้านการเจริญเติบโต สุขภาพช่องปาก และการจัดอาหาร 3) ด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ตามช่วงวัย 4) ด้านจัดสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก 5) ด้านการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ 6) ด้านการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 7) ด้านผลลัพธ์ ซึ่งผลการดำเนินงานของจังหวัดนราธิวาสมีศูนย์พัฒนา เด็กเล็กผ่านเกณฑ์คุณภาพแบบไม่มีเงื่อนไข ร้อยละ 9.05 ผ่านแบบมีเงื่อนไขคือผ่านร้อยละ 80 ทุกด้าน แต่ไม่ผ่านด้านผลลัพธ์คือเรื่องฟันผุ ส่วนสูงดี และรูปร่างสมส่วน ร้อยละ 5.71 แต่หากพิจารณาผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่พบว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กผ่านการประเมินระดับดี และ ดีมาก ร้อยละ 66.98

"สำหรับการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่ตำบลโล๊ะจูด ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ปัญหาที่พบคือการ ฝากครรภ์ช้า ไม่ฝากครรภ์ตามนัด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ถึง 6 เดือน และหญิงตั้งครรภ์มีภาวะซีด แต่จากการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแนวคิด 3 ก. คือ ก.กรรมการ ก.กองทุน และ ก.กำลังคน โดยนำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ มีเป้าหมายคือการฝากครรภ์เร็ว ไม่ซีด ฝากครรภ์ตามนัด คลอดโรงพยาบาล และเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผลจากการดำเนินงานพบว่า มีการฝากครรภ์ก่อน 12 สัปดาห์ ร้อยละ 70.10 หญิงตั้งครรภ์ฝากครรภ์ครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์ ร้อยละ 81.25 หญิงตั้งครรภ์มีภาวะซีดไม่เกิน ร้อยละ 10 คลอดที่โรงพยาบาล ร้อยละ 100 เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าร้อยละ 62 และเลี้ยงลูกด้วยหลักกิน กอด เล่น เล่า ร้อยละ 100” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า เด็กเป็นอนาคตที่สำคัญของทุนสังคม การดูแลกลุ่ม 0-5 ปี อย่างเท่าเทียม จึงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาด้านสมอง การมองเห็น การควบคุมอารมณ์ ทักษะด้านภาษาและสังคม ส่งผลต่อการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เพราะการมีสุขภาพกายและใจที่ดีของลูกเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หากแม่มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์ที่ถูกต้องและฝากครรภ์ทันทีเมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ จะได้รับการดูแลสุขภาพและคัดกรอง ภาวะเสี่ยงในระยะแรกของการตั้งครรภ์ ก็จะส่งผลให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ