ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วันนี้เงินหมุนเวียนสำหรับซื้อหาบริการสุขภาพทุกๆหนึ่งร้อยบาท รัฐบาลจ่าย 75 บาท มากนะครับจริงมั๊ย 

เอ้ แล้วในเมื่อรัฐบาลจ่ายมากถึงปานนี้ ทำไมเวลาป่วย คนไทยร้อยละ 30-45 จึงยังเลือกที่จะควักกระเป๋าตัวเองเพื่อไปคลินิกเอกชน หรือรพ.เอกชนสำหรับบริการแบบไม่ต้องนอนรพ.  และร้อยละ 5-10 สำหรับบริการคนไข้ใน

แปลว่า รัฐบาลยังจ่ายน้อยไปรึเปล่า  ไม่มั๊ง ในเมื่อคนไข้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิข้าราชการทุกวันนี้ใช้บริการฟรีไม่ใช่หรือ  อันนี้ก็จริง แต่ไปดูคิวคนไข้ตามรพ.รัฐบาล ซิครับ ยาวแค่ไหน ดูคนไข้ในนอนตามระเบียงหรือน่าลิฟท์ซิครับ ว่ามีความอึดอัดหรือเปล่าว

ถ้ามีตังค์ ใครๆ ก็คงไม่อยากไปรอคิวหรือนอนหน้าลิฟท์จริงมั๊ย ไปรพ.เอกชนสะดวกสบายกว่า เร็วกว่า เลือกหมอได้ด้วย อยากได้ยาอะไรก็ได้ ตราบเท่าที่มีตังค์จ่าย

สำหรับชาวบ้าน เรื่องราวคงจบแค่นี้ เพราะยังมีเรื่องอื่นให้คิดอีกมากมาย

ชาวบ้านคงนึกไม่ถึงดอกว่า ที่คนมีสตางค์ควักกระเป๋าเองเวลาเจ็บป่วยแล้วไปรพ.เอกชน มันเกี่ยวอะไรกับ เรื่องเวลาไปรพ.รัฐบาลโดยเฉพาะในชนบท มักเจอแต่หมอหน้าใหม่หมุนเวียนเรื่อยไป 

ในวงการแพทย์  เขารู้กันมานานแล้วว่า ค่าตัวหมอรพ.เอกชนแพงกว่าหมอรพ.รัฐบาลหลายเท่า  ค่าตัวหมอรพ.เอกชนส่งตรงมาจากเงินในกระเป๋าคนไข้  ค่าตัวหมอรพ.รัฐบาล(ส่วนใหญ่) ส่งตรงมาจากภาษี

ลองนึกดูว่าการที่รพ.เอกชนสามารถดึงหมอไปจากรพ.รัฐบาล เขาใช้อะไรจูงใจ  คำตอบก็ตรงไปตรงมา ค่าตัวไงล่ะ

สมัยก่อนความนิยมรพ.เอกชนไม่มากเท่าปัจจุบัน ค่าตัวหมอรพ.รัฐบาลกับรพ.เอกชนต่างกันไม่มากเท่าวันนี้  และค่าตัวหมอรพ.รัฐบาลสมัยก่อนก็ไม่มากเท่าทุกวันนี้  ดังนั้น ความนิยมบริการรพ.เอกชน เลยเป็นเหตุดึงหมอออกจากรพ.รัฐบาลโดยเฉพาะจากชนบท  รวมทั้งเป็นเหตุเพิ่มค่าตัวหมอในรพ.รัฐบาลเพื่อต้านทานแรงดูดของรพ.เอกชน

ความจริงที่รู้กันในวงแคบ คือ เฉพาะรพ.กระทรวงสาธารณสุข งบประมาณทุกๆร้อยบาท เป็นค่าแรงเกือบหกสิบบาท  เมื่อเป็นอย่างนี้ส่วนที่เหลือไว้เป็นค่ายา ค่าปรับปรุงอาคารสถานที่ ค่าเครื่องมืออุปกรณ์ ก็ย่อมน้อยตามไปด้วย จึงไม่แปลกที่คิวตรวจรพ.รัฐบาลยาวเฟื้อย  คนไข้ต้องนอนหน้าลิฟท์

ลองนึกต่อไปว่า ถ้าวันหน้าคนไทยใช้เงินจากกระเป๋าตัวเองแทนการใช้สิทธิบัตรทองหรือสิทธิข้าราชการ หรือประกันสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ  อะไรจะตามมา 

ประการแรก  รพ.รัฐบาลก็จะกลายเป็นที่รองรับคนจนด้วยสัดส่วนมากขึ้นไปอีก กว่าทุกวันนี้  ผลที่จะตามมาคือ การตรวจสอบ กดดัน ให้รัฐบาลปรับปรุงรพ.ก็จะน้อยลง เพราะคนจนโวยไม่เก่ง ไม่มีเส้นสาย  อุปมาอุปมัยเหมือนกิจการรถไฟไงล่ะ ล้าหลัง ตกต่ำมานานกว่าร้อยปี เพราะคนรวย คนชั้นกลางหนีไปขับรถบนถนน งบประมาณสร้างถนนเลยถมไม่รู้จบ แต่ละปีนับแสนล้านบาท  

ประการที่สอง เมื่อบริการรพ.รัฐบาลถดถอยเพราะเหตุดังกล่าวในประการแรก คนพอมีสตางค์ก็ยิ่งหนีไปรพ.เอกชนมากขึ้นมากขึ้น กลายเป็นภาวะงูกินหางผลักให้บริการรพ.รัฐบาลถดถอยลงต่อไปอีก  ประเทศมาเลเซียเป็นตัวอย่างในข่ายนี้  จึงไม่แปลกเมื่อพบว่า รัฐบาลมาเลเซียจ่ายเพื่อบริการสุขภาพ(8%ของรายจ่ายภาครัฐทั้งหมด)น้อยกว่ารัฐบาลไทยเกือบเท่าตัว (14%)แม้ว่าคนมาเลย์เกือบร้อยทั้งร้อยมีหลักประกันสุขภาพเหมือนคนไทย

ประการที่สาม ด้วยความเป็นจริง ณ วันนี้ ว่า รัฐบาลแทบจะไม่ได้ควบคุมกำกับกิจการรพ.เอกชนเลย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา คุณภาพบริการ ความปลอดภัย เมื่อกิจการรพ.เอกชนขยายตัวสวนทางการถดถอยในกิจการรพ.รัฐบาล ประกันสุขภาพเอกชนและการจ่ายจากกระเป๋าคนมีสตางค์จะค่อยๆแทนที่ระบบหลักประกันสุขภาพ  ผลที่ตามมาคือ คนไทยจะเสี่ยงต่อภาวะล้มละลาย สิ้นเนื้อประดาตัวมากขึ้นจากการใช้บริการรพ.เอกชน  การเข้าถึงบริการสุขภาพอาจจะถดถอยตามมาสำหรับคนไม่มีสตางค์พอจะจ่ายค่าบริการรพ.เอกชน และไม่อยากทนรอคิวรพ.รัฐบาล  โปรดสังเกต ว่านับวันโฆษณาขายประกันสุขภาพเอกชนขยายตัวมากขึ้น นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ความเป็นไปที่กล่าวมา

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

ประการสุดท้าย  ชะตากรรมระบบเศรษฐกิจไทยอาจจะเหมือนของสหรัฐอเมริกา ในความหมายว่า ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการจะจมไปกับรายจ่ายสุขภาพมากจนอำนาจแข่งขันถดถอย ธุรกิจที่แข็งแรงในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯคือ รพ.เอกชน ประกันสุขภาพเอกชน และบริษัทยา/เครื่องมือแพทย์ แม้ว่าระบบเศรษฐกิจภาพรวมอ่อนแอลง  ศูนย์วิจัยยานยนต์ของสหรัฐเคยเผยตัวเลขต้นทุนค่ารักษาพยาบาลพนักงานอันเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนทั้งหมดของรถแต่ละคันที่บริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์(จีเอ็ม)ผลิตเท่ากับ 1.525 ดอลล่าร์ คิดเป็น 5 เท่าของตัวเลขเดียวกันสำหรับรถโตโยต้าหนึ่งคัน  จึงไม่น่าแปลกที่ส่วนแบ่งตลาดของรถจีเอ็มถดถอยเพราะส่วนหนึ่งเกิดจากราคาแพงกว่ารถโตโยต้า  และต่อมาโตโยต้าได้เข้าแทนที่สามยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกที่เคยครองแชมป์อันดับหนึ่ง

ผมหวังว่าฝันร้ายดังกล่าวจะไม่เป็นจริง  และหวังว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติภายใต้การกำกับของคสช. จะได้ตระหนักและมองหาหนทางหลีกหนีจากฝันร้ายนี้

ผู้เขียน ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล