ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะการ์เดียน :  ผู้ที่เคยเร่ร่อนไร้บ้านมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาด้านสุขภาพในระยะยาวและต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยด้านสุขภาพจิต จากการสำรวจคนเร่ร่อนทั่วประเทศอังกฤษจำนวนกว่า 2,500  คน พบว่า คนไร้บ้านมากว่าร้อยละ 70 มีปัญหาทางด้านสุขภาพอย่างน้อย 1  โรคหรือมากกว่า ในขณะเดียวกันกว่า 8 ใน 10 คน ได้รับรายงานว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิต

ขอบคุณภาพจาก http://www.govopps.co.uk/

จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะกล่าวว่าการเร่ร่อนไร้บ้านส่งผลเสียต่อสุขภาพ  แต่สิ่งที่น่าตกใจคือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ที่มีบ้านและไม่มีบ้าน รวมถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยของคนยากไร้ที่แทบจะไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินงาน  จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่า คนเร่ร่อนที่เข้าร่วมการศึกษามากกว่าร้อยละ 40 ประสบปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ในขณะที่ประชากรทั่วไปประสบปัญหาเดียวกันนี้เพียงร้อยละ 28 ส่วนทางด้านจิตเวช จากการศึกษาพบว่า คนเร่ร่อนกว่าร้อยละ 45 ได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิต  ซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงกว่าเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับประชากรทั่วไป 

และเมื่อลงลึกไปจำแนกถึงประเภทของปัญหาด้านสุขภาพ ยกตัวอย่างเช่นโรคซึมเศร้า ก็พบว่า อัตราการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าในคนเร่ร่อนสูงกว่าที่พบในประชากรทั่วไปถึง 10 เท่าตัว ในขณะเดียวกันอัตราการป่วยด้วยโรคทางช่องท้องเรื้อรังในคนเร่ร่อน ก็มากกว่าประชากรทั่วไปถึง 4 เท่าตัว   

ในปี 2010 องค์กรเพื่อคนไร้บ้านในประเทศอังกฤษ Homeless Link ได้เผยแพร่ข้อมูลระดับชาติเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพของคนไร้บ้านเป็นครั้งแรก หลังจาก 4 ปีผ่านไปก็ได้เห็นการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า ภาวะไร้บ้านไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งส่งผลเสียอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย เขาเหล่านี้จะต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพหลายด้าน                

จากตัวเลขสถิติของรัฐบาลอังกฤษแสดงให้เห็นว่า จำนวนคนเร่ร่อนนับวันจะยิ่งสูงขึ้น  ซึ่งปัจจุบันที่พำนักชั่วคราวสำหรับคนเร่ร่อนก็มีอัตราการเข้าใช้เต็มจำนวนมาตั้งแต่ปี 2009 แล้ว นั่นหมายความว่า ปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา การศึกษานี้ระบุว่า หน่วยงานด้านสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ควรจะทำงานร่วมกันเพื่อจัดหาบริการด้านสุขภาพที่จำเป็นให้แก่คนเร่ร่อนทุกคนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

สำนักบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ หรือ เอ็นเอชเอส(NHS) ควรเร่งจัดหาบริการเพื่อรับมือกับปัญหาสุขภาพและปัญหาซับซ้อนอื่นๆที่คนไร้บ้านต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ล่าสุด จากสถิติจำนวนครั้งของการเข้าใช้บริการที่แผนกฉุกเฉิน (เอแอนด์อี : A&E) พบว่า คนเร่ร่อนเข้าใช้บริการมากกว่าคนทั่วไปถึง 4 เท่า และในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา 1 ใน 4  ของคนเร่ร่อนที่มาห้องฉุกเฉิน จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในแผนกคนไข้ในของโรงพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดก็มาจากภาษีของประชาชนทุกคน  ทั้งนี้จากตัวเลขประมาณการณ์ของรัฐบาลอังกฤษ พบว่า แต่ละปีรัฐจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาคนเร่ร่อนในโรงพยาบาลประมาณปีละ 85 ล้านปอนด์    

แม้ว่าในความเป็นจริงคนไร้บ้านส่วนใหญ่จะได้รับการลงทะเบียนด้วยระบบ GPs  แต่จากการสำรวจที่ผ่านมากลับพบว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือที่พวกเขาต้องการ หากปัญหาสุขภาพของคนกลุ่มนี้ถูกละเลยไม่ได้รับการแก้ไข หนทางที่พวกเขาจะหลุดพ้นจากการเป็นคนเร่ร่อนก็จะยากลำบากยิ่งขึ้น  เห็นได้ชัดว่า  การแก้ปัญหาทั้งสองด้านพร้อมๆกันคือสิ่งที่สมควรทำอย่างยิ่ง

มีตัวอย่างของการให้บริการในประเทศอังกฤษที่ช่วยเติมเต็มช่องว่างระหว่าง

การไม่มีที่อยู่อาศัยกับการบริการสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำงานร่วมกันแบบสหสาขาวิชาชีพนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่า

การลงทะเบียนผ่านระบบ GPs และการมีเครือข่ายที่พักที่เอื้อต่อการดูแลรักษา การทำงานร่วมกันในลักษณะนี้  สำนักบริการสุขภาพแห่งชาติและทีมจัดหาที่พักอาศัย จะเป็นผู้กำหนดเรื่องที่พักอาศัย สุขภาพ และกำกับดูแลไม่ให้มีการใช้ทรัพย์สินในทางที่ผิด พร้อมกันนี้ยังจัดให้มีการอบรมจิตอาสาที่จะเข้ามาช่วยคนเร่ร่อนฟื้นฟูสุขภาพและเข้าถึงการบริการสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างข้างต้นยังไม่ใช่บรรทัดฐาน ซึ่งเป็นเหตุให้การศึกษานี้ได้พยายามชี้นำให้สำนักบริการสุขภาพแห่งชาติตระหนักว่า ในภาพรวมภาวะเร่ร่อนไร้บ้านก็เป็นปัญหาด้านสาธารณสุข ส่วนในระดับยุทธศาสตร์ ควรสนับสนุนการลงทุนและการว่าจ้างด้านสาธารณสุขต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าคนเร่ร่อนจะได้รับความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย และในทางปฏิบัติควรมีการตรวจสอบสถานะที่อยู่อาศัยของคนไข้ทุกคนที่เข้ามาใช้บริการ

การดูแลคนเร่ร่อนควรได้รับการดำเนินงานอย่างเร่งด่วน และสรุปผลเพื่อเสนอให้มีการประเมินสุขภาพที่รอบด้านและวางแผนเพื่อแก้ไขทุกปัญหาที่พบ เหนือสิ่งอื่นใด ควรมีการปรับทัศนคติ ภาวะเร่ร่อนและสุขภาพที่ไม่ดีเป็นสิ่งที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ทีมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ควรทบทวนบทบาทเพื่อแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน