ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อภ.ปลูกต้นสมุนไพรเถาวัลย์เปรียงสนองพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 6,000ต้น รองรับการผลิตยาระดับอุตสาหกรรม

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมได้จัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ภายใต้ชื่อโครงการ"GPO ร่วมใจ อนุรักษ์สมุนไพรไทยให้ยั่งยืน" เพื่อสนองพระราชดำริตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ลดการบุกรุกทำลายป่า และส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรไทย รวมถึงการสร้างความรักและความสามัคคี สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์การเภสัชกรรมอีกทั้งการดูแลสิ่งแวดล้อมย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงองค์การฯ โดยคณะผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้าง จิตอาสาขององค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่หนองใหญ่ กว่า 400 คน จะได้ร่วมกันปลูกต้นสมุนไพรเถาวัลย์เปรียง จำนวน 6,000 ต้นในพื้นที่ขององค์การเภสัชกรรม ณ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรีในวันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2557

นพ.สุวัช กล่าวต่อว่าองค์การเภสัชกรรมมีบทบาทและหน้าที่หลักในการผลิตและสำรองยาและเวชภัณฑ์ ที่มีความจำเป็นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศทั้งการผลิตยาแผนปัจจุบัน และพัฒนาการผลิตยาจากสมุนไพร เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับภูมิปัญญาของไทย และ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศนอกเหนือจากบทบาทหน้าที่หลักแล้ว การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาตินับเป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งที่สำคัญขององค์การฯทั้งนี้องค์การเภสัชกรรมได้มีการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาจากสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพให้ได้มาตรฐานสากล องค์การฯ ได้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรหลากหลายชนิดอาทิ ผลิตภัณฑ์ จีพีโอ เถาวัลย์เปรียงแคปซูล

สมุนไพรเถาวัลย์เปรียงเป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณเป็นยากษัยเส้นหรือรักษาอาการปวดเมื่อย บรรเทาอาการปวดหลังรักษาอาการข้อเข่าเสื่อม ผงจากเถาของเถาวัลย์เปรียงในรูปแบบแคปซูล ถูกจัดอยู่ในบัญชียาแผนไทยซึ่งจัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข โดยองค์การเภสัชกรรมได้พัฒนาเตรียมสารสกัดมาตรฐานเถาวัลย์เปรียง (Standardized extract) ซึ่งใช้วัตถุดิบภายในประเทศด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยภายใต้การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความร่วมมือการผลิตกับสถาบันวิจัยสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ผลิตเป็นแคปซูลสารสกัดเถาวัลย์เปรียงตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาจากสมุนไพรโดยมีการควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีการตรวจสอบเอกลักษณ์โดยใช้เทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) ปริมาณของสารสำคัญและการปนเปื้อนของเชื้อลุลินทรีย์ภายใต้ชื่อการค้า จีพีโอเถาวัลย์เปรียงแคปซูล (GPO THAO-WAN-PRIANG CAPSULES) ให้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีความปลอดภัย และมีคุณภาพสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้ยาสมุนไพรในประเทศและทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งการจัดกิจกรรมครั้งนี้สามารถนำผลผลิตจากต้นเถาวัลย์เปรียงมาใช้ในการผลิตยาดังกล่าวต่อไป