ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดินหน้าตั้งคณะทำงานออกแบบเขตสุขภาพประชาชน หมอณรงค์ศักดิ์ เป็นประธาน ขยายคณะทำงานไม่เกิน 20 คน ทำข้อเสนออกแบบ ก่อนเข้าสู่สมัชชาสุขภาพที่จะมีขึ้น ธ.ค.นี้ หมออำพลแจงขยายระยะเวลา และเพิ่มคณะทำงานเพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วม หมอณรงค์ศักดิ์ยันไม่แตะโครงสร้างและอำนาจ แต่เน้นบูรณาการ หมออำพลย้ำไม่ใช่เขตบริการสุขภาพ และไม่มีผลผูกพันงบประมาณ ด้านปลัดสธ.เผยเห็นด้วยอย่างยิ่ง พร้อมสนับสนุน ส่วนเขตบริการสุขภาพของสธ.ก็เดินหน้าต่อ เพราะไม่มีอะไรขัดแย้ง ทั้งยังตรงกับมติสมัชชาสุขภาพ เลขาธิการสปสช.หนุนกลไกการเงินต้องสอดคล้องเพื่อแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ ชี้เป็นพันธะทุกหน่วยงานต้องออกแบบเพื่อสอดรับกับเขตสุขภาพประชาชนนี้

8 ส.ค.57 ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ โดยระบุว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติวันนี้เห็นชอบแนวความคิดตั้งเขตสุขภาพประชาชน ซึ่งเป็นไปตามมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 6 มติ 8 คือการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย โดยให้นำหลักการ ทิศทาง และแนวทางสำคัญของการปฏิรูประบบสุขภาพ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทยไปขับเคลื่อน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติวันนี้ก็มาคิดว่าควรทำอย่างไร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสุขภาพประชาชนเป็นหลัก จึงเห็นควรให้มีการตั้งเขตสุขภาพประชาชนขึ้น

นพ.ณรงศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เขตสุขภาพเพื่อประชาชนนั้น มีเป้าหมายการปฏิรูปเชิงพื้นที่ ซึ่งมุ่งประโยชน์ 2 เรื่อง คือ 1.เพิ่มสุขภาวะของประชาชนจากระดับที่เป็นอยู่ และ 2 ต้องลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมด้วย โดยการทำงานจะเน้นการเชื่อมโยงในลักษณะการใช้กลไกบูรณาการ ไม่เน้นเรื่องโครงสร้างและอำนาจ แต่จะบูรณาการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ได้เป้าหมาย 2 เรื่องที่ว่า ถ้าตั้งเป้าแบบนี้ กระบวนการต้องมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ซึ่งหมายรวมถึงประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่น NGO กลุ่มวิชาการ และภาคเอกชน เพราะต้องมองร่วมกันหมด  โดยเขตสุขภาพประชาชนนั้น จะมีคณะทำงานที่จะมาออกแบบว่ารูปแบบของการทำงาน กลไกการบูรณาการนั้น จากการประชุมวันนี้มีโจทย์ที่ให้การบ้านชุดคณะทำงานมาก นอกจากโครงสร้างที่ต้องเปิดกว้างแล้ว ยังต้องหาข้อยุติที่เป็นฉันทามติจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นกระบวนการตามปกติของสมัชชาสุขภาพ

“สิ่งที่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติฝากไว้ คือ ต้องไม่ติดกับดักโครงสร้าง แต่เน้นการมีส่วนร่วมและพูดคุย เพื่อเกิดฉันทามิติร่วมกัน ตามแนวทางคสช. คือการปรองดองและสมานฉันท์ ดังนั้นนี่น่าจะเป็นตัวหลักใหญ่เพื่อออกแบบคณะทำงาน สำหรับองค์ประกอบที่จะมาทำงานร่วมกันเพื่อบูรณาการการปฏิรูประบบสุขภาพเชิงพื้นที่นั้น จริงๆอยากใหใช้คำนี้ ไม่ใช้เขต เพราะจะซ้ำซ้อน เจตนาคือ ออกแบบกลไกเพื่อทำงานร่วมกัน เพื่อบูรณาการปฏิรูประบบสุขภาพเชิงพื้นที่ โดยนำภารกิจสมัชชาสุขภาพเป็นตัวตั้ง ส่วนต่างๆ ที่จะมีการทำงานอะไรนั้น ตรงนั้นเป็นกรอบของโครงสร้างแต่ละหน่วยงาน ไม่ได้พูดวันนี้เพราะเป็นเรื่องภายใน แต่ยืนยันว่าไม่ได้ก้าวก่ายโครงสร้างใคร และไม่ได้สลายอำนาจขอบเขตใคร แต่สร้างเวทีที่ทุกภาคส่วนเกี่ยวข้อง ยกระดับสุขภาพ ลดความเป็นธรรม” นพ.ณรงค์ศักดิ์กล่าว  

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หลักการตั้งเขตสุขภาพเพื่อประชาชนที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในวันนี้ เพื่อเป็นกลไกการปฏิรูประบบสุขภาพเชิงพื้นที่ เป็นกลไกร่วมกันคิด ชี้ทิศทางในระดับพื้นที่ ส่วนจำนวนของเขตนั้น ยังไม่มีการพูดกัน และเขตสุขภาพเพื่อประชาชนนี้จะไม่ใช่เขตบริการ และไม่มีการผูกพันงบประมาณอย่างที่หลายคนห่วงและกังวล

นพ.อำพล กล่าวว่า หลังจากนี้ จะมีคณะทำงานเพื่อออกแบบเขตสุขภาพประชาชน ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีไม่เกิน 20 คน มีนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา เป็นประธานคณะทำงาน คณะทำงานจะมาจากตัวแทนจากทุกภาคส่วน ทั้งมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน ประชาสังคม ท้องถิ่น ไม่ใช่มีแต่หน่วยงานราชการอย่างเดียว คือ สธ. สสส. สปสช. สปส. กรมบัญชีกลาง แม้จะมีจุดเริ่มจากราชการก็ตาม 

“ส่วนกำหนดระยะเวลาการทำงานนั้น เนื่องจากต้องทำงานวิชาการเพิ่ม เพื่อให้มีส่วนร่วมคิด และที่ลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่มีการมีส่วนร่วม จึงต้องขยายเวลาทำงาน โดยจะนำข้อเสนอการออกแบบเขตสุขภาพประชาชนที่ได้จากคณะทำงานชุดนี้ นำเสนอ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่จะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2557 นี้ ซึ่งหวังว่าจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และทุกฝ่ายมาร่วมคิด เพื่อเป็นเครื่องมือใหม่ในการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน ไม่ใช่คิดจากระดับชาติ” นพ.อำพล กล่าว

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. กล่าวว่า ในส่วนของสธ.ที่ตอนนี้มีการเดินหน้าเขตบริการสุขภาพนั้น ต้องขอชี้แจงว่า หลักการและทิศทางสำคัญของการปฏิรูประบบสุขภาพตามแนวทางสมัชชาสุขภาพนั้น ก็ตรงกับสธ.มองจากข้างในออกมาตั้งแต่ปี 53 คือ 1.ต้องมี health service plan หรือแผนบริการสุขภาพ ครอบคลุมทุกมิติทุกระดับ และการดำเนินการแผนบริการสุขภาพนั้น ต้องคำนึงถึงประชาชน ในรูปแบบจัดบริการเบ็ดเสร็จ ไร้รอยต่อ จัดบริการร่วม เพื่อลดเหลื่อมล้ำระหว่างเขต ขณะที่สธ.ส่วนกลางก็ต้องปรับทบาทเป็น National Health Authority ส่วนหน่วยบริการจะออกนอกระบบ หรือจะอยู่กับท้องถิ่น หรือจะจัดการตนเอง ตรงนี้เป็นเรื่องของวิวัฒนาการ แต่สิ่งสำคัญคือต้องลดบทบาทที่ซับซ้อนกับหน่วยบริการอื่น

ปลัดสธ. กล่าวว่า ส่วนที่ว่ากลไกนี้จะมาร่วมกันออกแบบอย่างไร เพื่อทำให้หน่วยงานร่วมกันมารับปฏิบัติ แต่ไม่ใช่สั่งการ แต่สร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ ดังนั้นกลไกต่างๆ การเงิน การจัดสรรทรัพยากร ถ้าร่วมพิจารณา สร้างความเข้มแข็งด้วยกัน ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งเขตบริการสุขภาพของสธ. ตรงนี้จะเดินหน้าต่อ ตามทิศทางที่ว่า ทรัพยากรในแต่ละเขต ปัญหาในแต่ละเขต ให้ระดับพื้นที่ตัดสิน ไม่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง หากบอกว่า สธ.มีความแข็งตึงของหน่วยงานราชการ เรายินดีกระจายอำนาจให้เขต เพื่อร่วมกันจัดบริการร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้อย่างไร โดยให้ความสำคัญกับกลไกพื้นที่ การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่ หรือการจัดบริการสุขภาพ ซึ่งเดิมอาจมีปัญหาที่ สธ.กับรพ.ในสังกัดมหาวิทยาลัยมีการทับซ้อน เมื่อมีเขตสุขภาพประชาชนก็มาช่วยกันวางแผนการให้บริการ รวมถึงการวางแผนพัฒนากำลังคนร่วมกันที่ระดับเขตด้วย

“ดังนั้นเขตบริการสุขภาพของสธ.จะเดินต่อ และจะขยายเพื่อเชื่อมต่อกับเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ซึ่งที่มาของการปฏิรูประบบสุขภาพด้วยเขตบริการสุขภาพ มีที่มาจากการวิจัย และสอดคล้องกับมติสมัชชาสุขภาพในข้อปฏิรูประบบริการสุขภาพ สธ.เห็นด้วยอย่างยิ่ง พร้อมสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้เขตสุขภาพประชาชนเดินหน้า และช่วยสธ.ในด้านการจัดระบบบริการเพื่อประชาชน นี่คือจุดแข็งที่อยากให้กลไกนี้เกิดขึ้น เพื่อแบ่งอำนาจและการจัดสรรทรัพยากรไปไว้ที่เขต” นพ.ณรงค์ กล่าว  

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สปสช.มีกลไกระดับเขตคือ คณะอนุกรรมการประสานงานหลักประกันสุขภาพเขต หรืออปสข. ก็มีแนวคิดอย่างนี้อยู่แล้ว เจตนาเพื่อให้เขตแก้ปัญหาด้านสุขภาพในระดับเขตเอง ซึ่งเขตจะรู้ดีที่สุด และเมื่อทราบปัญหา ก็มีหลายกลไกในการเข้าไปแก้ไข ทั้งกลไกการเงิน และกลไกการบริหารสุขภาพของสธ. แต่ที่สำคัญคือแต่ละเขตมีสภาพปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างอีสานมีปัญหาเรื่องพยาธิใบไม้ในตับ มะเร็งท่อน้ำดี แต่พื้นที่อื่นไม่มี ดังนั้นการออกแบบระบบบริการสุขภาพ และกลไกการเงินก็จะต่างกัน ดังนั้น กลไกการเงินจึงต้องสอดคล้องเพื่อแก้ปัญหาตรงกับพื้นที่ ถ้ามีทิศทางของเขตชัดเจน การใช้กลไกการเงินสนับสนุนก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะกลไกการเงินสปสช. แต่มีทั้งกลไกการเงินจากกรมบัญชีกลาง และจากประกันสังคม ดังนั้น กลไกการเงินจึงต้องไปสอดรับ เป็นพันธะที่ทุกหน่วยงานต้องไปออกแบบเพื่อสอดรับกับเขตสุขภาพประชาชนนี้