ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จับมือผู้บริหารโรงเรียนแพทย์ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ  ร่วมเป็นคณะกรรมการในเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมคิด ตัดสินใจ กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การทำงาน เพื่อปฏิรูประบบสุขภาพของชาติ  นำกลไกวิชาการ/วิชาชีพ นำการทำงาน เสริมกลไกอื่นๆ ทั้งการเงินการคลัง การจัดบริการร่วม การบริหารร่วม รวมทั้งการบริหารจัดการแบบใหม่ทั้ง กำลังคน ข้อมูล รวมทั้งการธรรมาภิบาลระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการจัดบริการที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป  

 

14 ส.ค.57 ที่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กทม. นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังบรรยาย “แนวคิด นโยบาย และองค์ประกอบของการปฏิรูประบบบริการสุขภาพของประเทศไทยใน 1-3 ปีข้างหน้า” ในที่ประชุมเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (University hospital network : UHOSNET) ครั้งที่ 50 ว่า วันนี้ได้มาสื่อสารแนวคิดแนวทางในการปฏิรูประบบสุขภาพของชาติ ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทยของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อรองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการประชาชนในแต่ละพื้นที่ และเพื่อพัฒนากลไกสร้างเอกภาพในการกำหนดนโยบายสาธารณสุข (National Health Directing Board) ซึ่งยังขาดทิศทาง นโยบายในการพัฒนาระบบสุขภาพในทุกระดับ  โดยเขตสุขภาพที่จะปฏิรูปมี 3 รูปแบบคือ1.เขตสุขภาพเพื่อประชาชน (Regional Health Directing Board)ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติหรือสช.  2.เขตสุขภาพของผู้จ่ายเงินแทนประชาชนหรือสปสช.(Purchasing Board) และ 3.เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (Regional Public Health Board)  

นพ.วชิระ กล่าวว่า เขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการนำภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ทั้งสถานพยาบาลในสังกัด  ภาครัฐนอกสังกัด เอกชน และส่วนท้องถิ่น เข้าร่วมจัดบริการในเขตสุขภาพ เน้นการสร้างสุขภาพนำการซ่อมสุขภาพ โดยเฉพาะในส่วนโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเดิมทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขคือรับส่งต่อผู้ป่วย กรณีที่ซับซ้อนเกินขีดความสามารถ  ถ่ายทอดเทคโนโลยีการรักษาพยาบาลและฝึกอบรม ผลิตบุคลากรสายสุขภาพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล  เป็นต้น  โดยจะปรับบทบาทให้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อกำหนดทิศทาง นโยบายการทำงานในเขตสุขภาพ เป็นการใช้กลไกวิชาการ/วิชาชีพ นำการทำงาน  โดยจะนำร่องความร่วมมือใน 3 คณะได้แก่ คณะแพทย์ศาสตร์ พยาบาลศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์

นพ.วชิระกล่าวต่อว่า ในรอบ 12 ปีที่ผ่านมาภายหลังการเกิดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในระบบสุขภาพไทยเช่น การเข้าถึงบริการได้ง่าย การครอบคลุมบริการประชาชนทุกกลุ่มทุกสิทธิ์และการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนเมื่อประสบปัญหาสุขภาพ แต่การใช้กลไกด้านการเงินการคลังนำการทำงานอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอในการจัดบริการที่ดีที่สุด เพราะข้อกำหนดในการทำงานบางส่วนกำหนดว่า เมื่อทำงานตามเงื่อนไขแล้วมีการจ่ายเงินให้หน่วยบริการ แต่เมื่อไม่ทำงานก็ไม่จ่ายเงิน ทำให้ประชาชนเสียโอกาสจากการที่หน่วยบริการไม่ทำงาน อาจเป็นเพราะไม่เห็นความสำคัญหรือไม่อยากได้เงิน เช่น การครอบคลุมการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในบางพื้นที่ เมื่อหน่วยบริการไม่อยากทำงานเชิงรุกเนื่องจากอาจไม่อยากได้เงิน หรือการทำงานยากเกินไป โดยไม่มีกลไกอื่นมากำกับ ประชาชนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคติดต่อจากการไม่ได้รับวัคซีน หรือ กรณีผู้ป่วยรอผ่าตัดไส้ติ่งนานเกินไปจนไส้ติ่งแตกเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา อาจเนื่องจากผลของการส่งต่อจากโรงพยาบาลเล็กไปโรงพยาบาลใหญ่ เพราะกลไกการเงินมีเพียงต้องตามจ่ายเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยไปแออัดรอคิวนานอาจทำให้ไส้ติ่งแตกได้         

“ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดกลไกอื่นๆ  เช่นการจัดบริการร่วม การบริหารร่วม  รวมทั้งการบริหารจัดการแบบใหม่ทั้ง กำลังคน ข้อมูล รวมทั้งธรรมาภิบาลระบบเข้ามาเสริมการทำงาน   โดยการพูดคุยหารือในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รับความกรุณาจากท่านผู้บริหารและคณะอาจารย์แพทย์ ซึ่งยินดีที่จะเข้ามาร่วมคิด ตัดสินใจ กำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์การทำงาน โดยการร่วมเป็นคณะกรรมการในเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข  อาจารย์หลายๆท่านมองเห็นว่าเป็นโอกาสอันดี และเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องช่วยกันปฏิรูประบบสุขภาพของชาติ  ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการจัดบริการที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพราะบริการด้านสุขภาพเป็นความจำเป็นพื้นฐานของประชาชนทุกคน”  นพ.วชิระกล่าว