ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เตรียมซักซ้อมแผนรับมือ “อีโบลา” 20 ส.ค. เข้มด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกทาง เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังผู้โดยสารทั้งลำ หากพบผู้ป่วยจาก 4 ประเทศระบาด พร้อมติดตามอาการต่อเนื่อง 21 วัน ปลัดสธ.สั่งทุกโรงพยาบาลทบทวนแผนรองรับอีโบลา เตรียม 3 โรงพยาบาลรองรับหากพบผู้ป่วยเข้าประเทศ
       

วันนี้(14 สิงหาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมอธิบดี และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาพร้อมวางมาตรการรับมือการระบาด ว่า การประชุมวันนี้ ได้มีการหารือใน 2 ประเด็นสำคัญ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติให้เป็นมาตรฐาน ได้แก่ 1.มาตรการการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ที่จุดเข้าออกประเทศ เน้นในผู้ที่เดินทางจาก 4 ประเทศพื้นที่ระบาด ได้แก่ กินี เซียร์ร่าลีโอน ไลบีเรีย และไนจีเรีย ได้แก่ ท่าอากาศยาน 5 แห่ง และท่าเรือ 17 แห่ง และ2.ทบทวนระบบการเตรียมความพร้อมและการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ปรับคู่มือแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่พบผู้ที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา และจัดให้มีการซักซ้อมแผนและแนวปฏิบัติต่อไป คาดว่าจะแจ้งความคืบหน้าของการดำเนินงานในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ซึ่งในขณะนี้มีหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาของ คสช. เป็นประธานในวันที่ 20 สิงหาคม 2557

 “ประชาชนไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกกับข่าวการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจนเกินไป จากการประเมินสถานการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในขณะนี้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะมีการนำเชื้อเข้าประเทศ หรือความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่โรคในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งคล้ายกับการประเมินสถานการณ์ของประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ ที่สำคัญ โรคนี้ติดต่อโดยตรงจากสัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ไม่ติดต่อกันทางหายใจ ทางอาหารและน้ำ  ขณะนี้ทั้งประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ การระบาดยังจำกัดอยู่ในทวีปแอฟริกาทางซีกตะวันตก กระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบการเฝ้าระวัง และเตรียมการด้านการป้องกันโรค ตลอดจนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตามมาตรฐานนานาชาติ สำหรับผู้ที่มีแผนจะเดินทางไปประเทศที่กำลังมีการระบาด หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในระยะนี้ไว้ก่อน” นพ.ณรงค์กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ ได้แก่ 1.ประกาศกระทรวงฯให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่อ 2.ประกาศกระทรวงฯให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ 3.ประกาศกระทรวงฯให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และ4.ประกาศกระทรวงฯ กำหนดเขตติดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้แก่ ประเทศกินี เชียร์ร่าลีโอน ไลบีเรีย และเมืองลากอส ของประเทศไนจีเรีย ไปตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

นพ.โสภณ เฆมธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติจะครอบคลุมสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจพบได้ เช่นที่เคยเกิดในต่างประเทศ เช่น ในกรณีที่พบผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจเป็นอีโบลาบนเครื่องบินที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทย และนักบินแจ้งให้ทางท่าอากาศยานทราบล่วงหน้า ก็จะมีการกำหนดจุดลงจอดของเครื่องบินเป็นการเฉพาะ เตรียมรถรับผู้ป่วยส่งต่อไปตรวจที่โรงพยาบาล และส่งทีมเจ้าหน้าไปประเมินผู้เดินทาง ว่ามีผู้โดยสารแต่ละคนที่เดินใดร่วมในเครื่องบิน มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน แล้วให้การดูแล หรือคำแนะนำ ตามความเหมาะสม ก่อนให้เข้าประเทศหรือเดินทางต่อไป เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันโรคในกลุ่มผู้โดยสาร โดยจะมีการขอที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้เพื่อติดตามอาการทุกวัน