ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะการ์เดียน :  เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สถาบันสุขภาพและการดูแลรักษาเป็นเลิศแห่งสหราชอาณาจักร หรือสถาบันไนซ์ (National Institute for Health and Care Excellence / NICE) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับโรคต่างๆ ได้ปฎิเสธที่จะใช้ Kadcyla ยารักษามะเร็งตัวใหม่ของบริษัทโรชในระบบประกันสุขภาพ โดยไนซ์ระบุว่าได้ประเมินราคาและประสิทธิผลในการรักษาแล้วเห็นว่ายังไม่มีความคุ้มค่าที่จะนำมาใช้ในระบบประกันสุขภาพ

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.mims.co.uk

การตัดสินใจดังกล่าวนำมาซึ่งการตั้งคำถามเกี่ยวกับการปรับราคายาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในกรณีของยา Kadcyla คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณมากกว่า 90,000 ปอนด์ต่อคนต่อปีในการสั่งยาชนิดนี้ ซึ่งสูงกว่าเพดานราคายาทั่วไปของไนซ์ถึง 3 เท่า และสูงกว่าเพดานค่ายาที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายถึงเกือบ 2 เท่าตัว แม้ว่าการตัดสินใจของสถาบันไนซ์ในครั้งนี้จะนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเลือกใช้ยาในระบบประกันสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับโรคที่มียาใหม่พิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผล ไม่ว่ายาจะมีราคาเท่าใดก็ตาม การถกเถียงในประเด็นที่ว่าแพทย์จะสั่งยาใหม่นี้ให้แก่คนไข้ในระบบประกันสุขภาพได้หรือไม่ นับเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ยากจะหาข้อสรุป

ก่อนหน้านี้ ในการดำเนินงานช่วงท้ายๆของรัฐบาลอังกฤษชุดที่แล้ว ได้มีการหยิบเอากรณีของคนไข้โรคมะเร็งที่เสียชีวิตไปทั้งๆที่สามารถมีชีวิตรอดได้อีก 2-3 เดือน เนื่องจากไม่สามารถใช้ยานอกระบบประกันสุขภาพได้ขึ้นมาตีแผ่ จนกลายเป็นประเด็นหาเสียงทางการเมืองซึ่งทางพรรคแรงงานได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งอย่างศาสตราจารย์เซอร์ไมค์ ริชาร์ด เป็นประธาน และมีนายจอห์น เมลวิลล์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโรชในประเทศอังกฤษเป็นประธานร่วม ซึ่งต่อมาได้เผยแพร่ข้อมูลเสริมที่ระบุว่า สหราชอาณาจักรจัดสรรงบประมาณสำหรับยารักษาโรคมะเร็งน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ด้านพรรคอนุรักษ์นิยม ได้สัญญาว่าจะก่อตั้งกองทุนยารักษาโรคมะเร็งขึ้นก็เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงยาราคาแพง ด้วยแนวคิดดำเนินงานโดยผู้ป่วยเพื่อผู้ป่วยด้วยกันเอง กองทุนนี้จะเข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาบางชนิดที่ไนซ์มองว่ามีราคาแพงเกินไปที่จะใช้ในระบบประกันสุขภาพ โดยแต่ละปีกองทุนจะได้รับเงินอุดหนุนกว่าปีละ 200 ล้านปอนด์เพื่อนำมาช่วยให้คนไข้โรคมะเร็งได้เข้าถึงยารักษาซึ่งมีราคาแพง 

 มีการคาดการณ์ตั้งแต่ปี 2010 ถึงปี 2020 มูลค่ายอดขายยารักษามะเร็งของบริษัทโรช โดยเฉพาะยา Avastin จะมีอัตราเติบโตถึงประมาณร้อยละ 50 (รูปประกอบโดย สำนักข่าวบลูมเบิร์ก)

ด้วยความพยายามที่จะหาทางออกให้กับปัญหาการเข้าถึงยาของผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบประกันสุขภาพ ปัจจุบันกองทุนยารักษาโรคมะเร็งได้เริ่มดำเนินงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักบริการสุขภาพแห่งชาติของประเทศอังกฤษ และเวชภัณฑ์ของโรช เช่น ยา Avastin ซึ่งถูกไนซ์ปฎิเสธที่จะนำมาใช้รักษาคนไข้โรคมะเร็งลำไส้และมะเร็งเต้านมในระบบประกันสุขภาพ ก็ได้ถูกสั่งใช้ผ่านกองทุนนี้ประมาณ 1 ใน 4 ของการสั่งจ่ายยาทั้งหมด 

มีการตั้งข้อสังเกตว่า กองทุนนี้ไม่เน้นที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับราคาของยารักษามะเร็ง และไม่ได้หาทางแก้ไขข้อขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานระหว่างระบบประกันสุขภาพที่มีงบประมาณจำกัดกับการปรับเพิ่มของราคายาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

บริษัทยารายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง เช่น บริษัทโรช  มีกำไรเติบโตมากกว่าร้อยละ 10 ในไตรมาสแแรกของปีนี้ ในขณะเดียวกันก็มีการคาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2010-2020 มูลค่ายอดขายของยารักษาโรคมะเร็งและเนื้องอกจะสามารถเติบโตได้ถึงร้อยละ 50  หลังจากที่ได้พัฒนายาใหม่และเปิดตัวสู่ตลาด โรชได้กลายเป็นผู้นำตลาดที่ทำกำไรได้สูงสุด แม้กระทั่งตลาดยาในสหรัฐอเมริกาซึ่งราคาเวชภัณฑ์ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันก็กำลังเรียกร้องให้มีการสั่งจ่ายยาราคาแพงกลุ่มนี้เช่นกัน      

องค์กรการกุศลอย่าง มูลนิธิ Breakthrough Breast Cancer สนับสนุนการตัดสินใจของไนซ์อย่างไม่เต็มใจนัก ในขณะเดียวกันก็ระบุว่าการดำเนินงานของกองทุนยารักษาโรคมะเร็งยังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์

คำถามคือ อะไรคือสิ่งที่สมควรทำ ระหว่างการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหนักไม่กี่คน แลกกับการได้ข้อเสนอที่ดีจากบริษัทยา การดำเนินงานในลักษณะนี้เป็นหลบหลีกข้อจำกัดอย่างระมัดระวังแต่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา อาจถึงเวลาแล้วที่จะล้มเลิกกองทุนดังกล่าว แล้วเชิญบริษัทยาทั้งหลายรวมทั้งโรช ให้เข้ามาหารือและเจรจาร่วมกันอย่างจริงจังเสียที