ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยพระสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพช่องปากมากมาย แนะประชาชนถวายภัตตาหารที่ดีต่อฟัน เช่น แตงกวา มะเขือเทศ ส้ม สับปะรด ถั่วเหลือง โปรตีนจากปลา แทนอาหารประเภทขนมหวาน เหนียว หรือน้ำอัดลมที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพฟัน

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการดูแลสุขภาพช่องปากพระสงฆ์ ว่า พระสงฆ์ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยสูงอายุ ซึ่งขณะนี้แม้ยังไม่มีการสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากของพระสงฆ์ที่ชัดเจน แต่จากการสำรวจสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 7 ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60-70 ปี พบว่า มีฟันผุที่ยังไม่ได้รักษา ร้อยละ 48.3 มีการสูญเสียฟัน ร้อยละ 95.5 ซึ่งการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันโดยทั่วไปสามารถทำได้โดยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพในช่องปากและการป้องกันปัจจัยเสี่ยงร่วม โดยตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละครั้ง ร่วมกับการดูแลอนามัยช่องปากอย่างเหมาะสมด้วยสูตร 2 : 2 : 2 ได้แก่ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง นานครั้งละ 2 นาที และงดรับประทานอาหารหลังแปรงฟัน 2 ชั่วโมง รวมถึงการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพฟัน

แต่เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารเองได้ ต้องฉันอาหารตามที่ฆราวาสตักบาตรหรือถวายเท่านั้น พุทธศาสนิกชนจึงควรหลีกเลี่ยงการถวายภัตตาหารที่รสหวานจัด มีน้ำตาลในปริมาณมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดโรคในช่องปาก รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูงด้วย ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า อาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพฟัน ได้แก่ อาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักและผลไม้จำพวก แตงกวา ฝรั่ง มะเขือเทศ ชมพู่ จะช่วยในการทำความสะอาดฟัน อาหารที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม สับปะรด กะหล่ำปลี แครอท ผักคะน้า มีความสำคัญในการรักษาเหงือก ฟัน กระดูก อาหารที่มีวิตามินบี2 เช่น ถั่วลิสง รำ ถั่วเหลือง มะม่วง จะช่วยป้องกันมุมปากแตก ลิ้นอักเสบ เลือกถวายน้ำผลไม้แทนน้ำอัดลม เพราะน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลสูงและมีผลต่อการกัดกร่อนของฟันได้ หากเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลมไม่ได้ให้ใช้ดื่มผ่านหลอดลงคอไปโดยตรง จะทำให้น้ำอัดลมสัมผัสกับผิวฟันน้อยกว่าการดื่มจากแก้ว หลีกเลี่ยงขนมหวาน เช่น คุกกี้ โดนัท ทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทอง เพราะมีปริมาณน้ำตาลสูงจึงทำให้ฟันผุได้ง่าย

"ทั้งนี้ การมีสุขภาพช่องปากและฟันที่ดี ยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากโรคในช่องปากเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นปัจจัยเสี่ยงร่วมกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วย โดยจากผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขปี 2554 ในกลุ่มพระภิกษุ สามเณร จำนวน 98,561 รูป หรือประมาณร้อยละ 30 พบว่าสุขภาพปกติ ร้อยละ 55 ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูงและเบาหวาน พระสงฆ์บางรูปป่วยมากกว่า 1 โรค พระสงฆ์ร้อยละ 5 หรือ 5,381 รูป อยู่ในภาวะอ้วน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด