ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เข้ม 2 มาตรการรองรับโรคไวรัสอีโบล่า มาตรการคัดกรองผู้เสี่ยงติดเชื้ออีโบล่า และมาตรการตั้งรับสถานการณ์ภายในประเทศ เตรียมพร้อมสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจเชื้อ นำเข้าชุดทดสอบที่สามารถตรวจการติดเชื้อได้ใน 8 ชั่วโมง ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบเฝ้าระวังป้องกันโรคของประเทศไทยที่มีมาตรฐานสูง ที่สำคัญโรคนี้ติดต่อได้ยาก เชื้อโรคอยู่ในเลือด และสารคัดหลั่ง การติดต่อต้องสัมผัสเชื้อเข้าทางบาดแผล หรือกระเด็นเข้าตา ไม่ติดต่อทางอาหาร น้ำดื่ม อากาศ

วันนี้ (16 สิงหาคม 2557) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปการเตรียมการรองรับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสอีโบล่าให้แก่ ที่ปรึกษาหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิยา มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อแนะนำในการดำเนินงานแก่ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุข ขอให้กระทรวงสาธารณสุขมองในมิติอื่นๆ นอกเหนือจากมิติทางการแพทย์ การสาธารณสุข ขอให้มีมาตรการที่สามารถป้องกันควบคุมโรคให้ประชาชนในประเทศปลอดภัย และไม่ให้เกิดการตื่นตระหนกจนกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้มีข้อสรุปใน 2 มาตรการใหญ่ๆ คือ 1.มาตรการการตรวจสอบ คัดกรอง ผู้ที่เสี่ยงจากพื้นที่ระบาดที่จะเข้ามาในประเทศ ดำเนินการที่ท่าอากาศยาน 5 แห่งคือสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ตและหาดใหญ่ และท่าเรือ 17 แห่ง รวมทั้งในชุมชนโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาสาสมัครสาธารณสุข และ2.การเตรียมรับสถานการณ์ภายในประเทศ เตรียมพร้อมสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งความพร้อมของห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยในวันนี้ได้มีการจำลองฉากทัศน์ต่าง ๆ ถ้ามีเหตุการณ์ เช่น ยังไม่พบผู้ป่วยไวรัสอีโบล่าในประเทศ หรือพบผู้สงสัยเดินทางมาจากพื้นที่ระบาด กระทรวงสาธารณสุขเตรียมการยังไง

นอกจากนี้ได้เตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการ ที่เป็นตัวสำคัญที่จะวินิจฉัยโรคว่าเป็นหรือไม่ เพราะการควบคุมผู้ที่สงสัย ถ้าไม่มีผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ต้องใช้เวลาในการควบคุมผู้สงสัยนาน 21 วัน ถ้าตรวจพบว่าใช่หรือไม่ใช่ จะช่วยให้ปรับมาตรการการดำเนินได้รวดเร็ว ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เตรียมพร้อมการตรวจการติดเชื้อที่ทราบผลได้ใน 8 ชั่วโมง พร้อมดำเนินการตั้งแต่สัปดาห์หน้า ส่วนเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาล การดูแลผู้ป่วย กรมการแพทย์ได้เตรียมพร้อมโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว การสื่อสารกับประชาชน เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุข มอบให้นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดำเนินการ สื่อสารเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ส่วนในภาพรวมการดำเนินงาน กรมควบคุมโรคมีการประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิดกับองค์กรต่างประเทศทุกวัน และมีวอร์รูมระดับกระทรวงสาธารณสุขประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อปรับแผนรับสถานการณ์ได้รวดเร็ว

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า ได้หารือในเรื่องงบประมาณ เบื้องต้นในฉากทัศน์แรกคือยังไม่ได้มีผู้ป่วยเข้ามา กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมเรื่องอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ ห้องปฏิบัติการ รวมทั้งงบที่ใช้ในกระทรวงอื่นๆ เช่น กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ทีมนักวิจัย รวมทั้งมหาวิทยาลัย ส่วนฉากทัศน์กรณีเกิดการระบาดของโรคนั้น อยู่ระหว่างการทำรายละเอียด โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการโรคอุบัติใหม่แห่งชาติ วันที่ 20 สิงหาคม 2557 ถ้าเห็นชอบในหลักการก็จะเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไป

สำหรับสถานการณ์ของโรคไวรัสอีโบล่า ข้อมูลถึงวันที่ 13 สิงหาคม 2557 พบผู้ป่วย 1,995 ราย เสียชีวิต 1,065 ราย ใน 3 ประเทศกับ 1 เมือง คือ ได้แก่ กินี เชียร์ล่าลีโอน ไลบีเรีย และเมืองลากอสของไนจีเรีย ยืนยันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำต่อโรคนี้ ตามการประเมินสถานการณ์ตามหลักวิชาการมาตรฐานเดียวกับนานาชาติ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ที่สำคัญโรคนี้ติดต่อได้ยาก เชื้อโรคอยู่ในเลือด และสารคัดหลั่ง การติดต่อต้องสัมผัสเชื้อเข้าทางบาดแผล หรือกระเด็นเข้าตา ไม่ติดต่อทางอาหาร น้ำดื่ม อากาศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบการคัดกรอง เฝ้าระวัง การป้องกันโรค ตลอดจนการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นายแพทย์ณรงค์กล่าว

ด้านนายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เตรียมพร้อมห้องปฎิบัติการเพื่อตรวจยืนยันเชื้อไวรัสอีโบล่าแล้ว โดยได้สั่งซื้อชุดทดสอบเชื้อโรคจาก 3 ประเทศคือเยอรมัน จีน และญี่ปุ่น จำนวน 300 ชุด จะนำเข้ามาใช้ได้ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งชุดทดสอบนี้สามารถทราบผลการตรวจได้ภายใน 8 ชั่วโมง โดยชุดทดสอบจากทั้ง 3 ประเทศเป็นชุดทดสอบที่มีความแม่นยำประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่วยให้แนวทางการควบคุมโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้ส่งเชื้อไปตรวจยืนยันที่สหรัฐอเมริกาพร้อมๆ กันอีกด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจากเชื้อไวรัสอีโบล่ายังไม่มียารักษาไม่มีวัคซีนป้องกันโรค เพื่อความปลอดภัยในการควบคุมไม่ให้เชื้อโรคหลุดออกมาระหว่างการตรวจวินิจฉัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้สั่งซื้อเครื่องเพิ่มสารพันธุกรรมและพีซีอาร์ระบบปิดอัตโนมัติ มาใช้ในการตรวจโรคไวรัสอีโบล่า เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเครื่องมือนี้สามารถใช้ได้กับการตรวจเชื้อโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย