ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอสุวัชยันยาเอดส์ไม่ขาด มีในสต๊อกเพียงพอ ตอนนี้กำลังเร่งผลิตยา ก่อนแจงสปสช.ขอยืมยา 1.2 แสนขวด โดยไม่มีการทำสัญญาก็ให้ยืม เพราะคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม

นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวถึงกรณีภาคประชาชนออกมาโจมตีว่า อภ.ผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีไม่ทัน โดยเหลืออยู่ในสต็อกยาของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทองเพียง 2 เดือน และจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง รวมทั้งจะลุกลามกระทบไปยังสิทธิประกันสังคมด้วย ว่า มีการชี้แจงไปหลายครั้ง โดยขอย้ำว่า ทุกๆ ปี อภ.ได้มีการผลิตส่งยาให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ตลอด และมีการส่งช้าบ้าง แต่ไม่กระทบผู้ป่วย โดยในปีนี้สาเหตุที่ส่งงวดไม่ทัน เนื่องจากได้รับใบสั่งยาจำนวนมาก หลายรายการในคราวเดียวกัน จึงต้องทยอยผลิตยาที่จำเป็น ขณะเดียวกันในส่วนของยาต้านไวรัสเอชไอวีมีความจำเป็นเช่นกัน เพียงแต่กลุ่มนี้ที่ล่าช้า เพราะมีปัญหาในส่วนของซัพพลายเออร์ ซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างในการหาวัตถุดิบและยาจากอินเดีย โดยพบว่าเกิดปัญหาการจัดหาวัตถุดิบและแหล่งผลิตที่ต้นทางขึ้น 

นพ.สุวัช กล่าวอีกว่า  แต่ไม่ต้องกังวล เนื่องจากยาต้านไวรัสเอชไอวีตัวนี้ ที่ชื่อว่า ยาโลพินาเวียร์ (Lopinavir) มีสต็อกอยู่ 2 เดือน โดย อภ.ค้างส่งอยู่ 20,388 กล่อง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการผลิตและจัดส่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้  อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้ทำสัญญากับ อภ.ให้ผลิตยา 22 รายการ ค้างอยู่ 7 รายการ โดยแต่ละรายการมีอยู่ในสต็อกใช้ได้นานตั้งแต่ 2 เดือนไปจนถึง 15 เดือน แต่ทั้งหมดจะผลิตและจัดส่งได้ไม่เกินเดือนกันยายนเช่นกัน  ทั้งนี้ อภ.ยังผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีอีกกลุ่มสำรองไว้ให้ สปสช. เช่นกัน เนื่องจาก อภ.ตรวจสอบพบว่า ยาต้านไวรัสเอชไอวีกลุ่ม ลามิวูดีน (Lamivudine) ขนาด 300 มิลลิกรัมเหลืออยู่ในสต็อกเพียง 4,013 ขวดเท่านั้น ซึ่งจะสามารถใช้ได้ไม่ถึงครึ่งเดือนก็จะหมดสต็อก อภ.จึงได้ผลิตสำรองจำนวน 15,000 ขวด ในกรณี สปสช.มาทำเรื่องยืม

ผู้สื่อข่าวถามว่าการทำเรื่องยืมโดยไม่ทำสัญญาการว่าจ้าง แสดงว่า สปสช.เคยมีการดำเนินการลักษณะนี้หรือไม่ นพ.สุวัช กล่าวว่า มี โดย 2 งวดที่ผ่านมา คือ ในวันที่ 26 มิถุนายน และ 17 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือยืม ยาต้านไวรัสเอชไอวีในกลุ่มยาเอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz) จำนวนงวดละ 60,000 กล่อง  รวมทั้งหมด 1.2 แสนกล่อง มีมูลค่า26 ล้านบาท  ซึ่ง อภ.ก็ไม่ได้มีปัญหา จัดส่งให้ก่อน เพื่อคำนึงถึงผู้ป่วยเป็นหลัก หลังจากนั้นจึงมาเคลียร์บัญชีกันภายหลัง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม(สปส.) อยากชี้แจงว่าก็ไม่ได้มีปัญหาขาดยา เพียงแต่ที่ผ่านมาได้หารือว่าหากต้องการยาเร่งด่วน อาจใช้ยาของสปสช.ก่อน ซึ่งจริงๆ เมื่อยาตัวเดียวกันก็ให้ใช้ในคลังเดียวกันได้ และค่อยมาแยกบัญชี  โดยสปส.สั่งซื้อยาจาก อภ. 4 รายการ ซึ่งยังมีในสต็อกยาไม่ต่ำกว่า 3-7 เดือน โดยส่วนนี้ไม่น่ากังวล เพราะ อภ.จะผลิตต่อจาก สปสช.ทันที