ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ร่วมภาคีถกความร่วมมือสิ่งแวดล้อมสุขภาพประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-เอเชียตะวันออก เผยสถิติปัจจัยสิ่งแวดล้อมก่อโรคทำประชากรเสียชีวิตกว่า 6.6 ล้านคนในโลกแล้ว

กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสภายใต้กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก (The Extraordinary Meeting of High Level Officials of the Regional Forum on Environment and health in Southeast and East Asian Countries) เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อบทบาทและแนวทางการดำเนินงานขององค์ประกอบต่างๆ ของ Regional Forum แผนปฏิบัติการของความร่วมมือด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม 3 ปี (2557-2559) และร่างเอกสารสำหรับจัดทำ Environmental Health Country Profiles (EHCP) และ Environmental Health Data Sheets (EHDS) เพื่อให้แต่ละประเทศดำเนินการได้อย่างถูกต้องต่อไป

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสภายใต้กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก (The Extraordinary Meeting of High Level Officials of the Regional Forum on Environment and health in Southeast and East Asian Countries)ว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2007 พบว่าปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ เฉพาะในภูมิภาคเอเชียซึ่งมีประชากรประมาณ 4,000 ล้านคน พบเสียชีวิตด้วยโรคที่มีปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมถึง 6.6 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตทั่วโลก การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในแต่ละประเทศทั่วภูมิภาค

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2550 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 1 ณ กรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมได้ให้การรับรอง"กฎบัตรด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม-ตามกรอบความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก" (Charter of the Regional Forum on Environment and Health Southeast and East Asian Countries – Framework for Cooperation) ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว จากนั้นจึงได้กำหนดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีฯทุก 3 ปี เพื่อเป็นเวทีการกำหนดกรอบและแนวทางการดำเนินงานความร่วมมือด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ และได้มีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมรัฐมนตรีฯ ครั้งที่ 2 จัดขึ้น ณ เมืองเจจู สาธารณรัฐเกาหลี ในปี พ.ศ. 2553 และครั้งที่ 3 จัดขึ้น ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อเดือนกันยายน 2556

"สำหรับในปี 2557 นี้ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสภายใต้กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากประเทศไทย และอีก 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย มองโกเลีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐสิงคโปร์ และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งเจ้าหน้าที่และบุคลากรจากองค์การอนามัยโลก และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิชาการจากต่างประเทศ ตลอดจนเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากประเทศไทย" นายแพทย์สุริยะกล่าว

ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในตอนท้ายว่า การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสภายใต้กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกทบทวนร่างแผนปฏิบัติการด้านอนามัยและสิ่งแวดล้อม 3 ปี (พ.ศ.2557-2559) ซึ่งประเด็นและเนื้อหาได้เน้นให้ความสำคัญในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) การสร้างความเข้มแข็งของการพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 2) การพัฒนาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศและการจัดทำข้อมูลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม 3) สนับสนุนและเพิ่มศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผ่านการวิจัย การฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนทรัพยากรและเทคโนโลยี และ 4) การปรับปรุงประสานงาน การดำเนินงานร่วมกัน และภาคีเครือข่ายในระดับนานาชาติและภูมิภาค ซึ่งคาดว่าหลังจากที่ประเทศสมาชิกได้ร่วมกันทบทวนและมีมติเห็นชอบต่อร่างแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจะได้นำไปดำเนินงานและกลับมารายงานความก้าวหน้าในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสในปี 2558 ต่อไป