ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สาธารณสุขเผยผลการดูแลสุขภาพจิต ผู้ประสบภัยจากเหตุคอนโด 6 ชั้น ถล่มที่คลอง 6 ปทุมธานี เมื่อ 11 สิงหาคม 2557 พบชาวไทย 19 ราย อาการน่าห่วง เป็นโรคซึมเศร้า และเสี่ยงพีทีเอสดี 9 ราย แพทย์ ให้การบำบัดทางจิตควบคู่การใช้ยาต้านเศร้า ชี้กลุ่มครอบครัวผู้เสียชีวิตมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากที่สุด พร้อมทั้งประสานที่ปรึกษาทูตแรงงานกัมพูชาในไทย ติดตามดูแลปัญหาสุขภาพจิตแรงงานชาวกัมพูชา10 รายต่อเนื่อง

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าผลการดูแลสุขภาพจิตผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์คอนโด 6 ชั้นถล่มย่านคลองหก อ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่11 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา ว่าทีมสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลศรีธัญญาและศูนย์สุขภาพจิตที่ 1 ร่วมกับทีมสุขภาพจิตของจังหวัดปทุมธานี ให้การดูแลทั้งความเครียดและภาวะซึมเศร้า ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มครอบครัวญาติผู้เสียชีวิต กลุ่มผู้บาดเจ็บที่พักรักษาตัวในรพ. กลุ่มผู้บาดเจ็บเล็กน้อยที่ไม่ต้องรักษาใน รพ. และกลุ่มผู้เห็นเหตุการณ์/อาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า ขณะนี้ทีมสุขภาพจิต ได้เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบไปแล้ว 7 ครอบครัว รวม 28 ราย รวมทั้งตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตผู้บาดเจ็บและผู้เห็นเหตุการณ์ชาวไทยอีก 21 ราย พบเครียดสูง 5 ราย ซึมเศร้า 3 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 3 ราย ในจำนวนนี้ วินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้า (Depression) จำนวน 3 ราย โรควิตกกังวลเฉียบพลันหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Acute Stress Disorder : ASD) จำนวน 9 ราย ซึ่งหากหลัง 4 สัปดาห์แล้วยังมีอาการอยู่ เสี่ยงเป็นโรคพีทีเอสดี (Post-Traumatic Stress Disorder :PTSD) ภาวะซึมเศร้าจากปัญหาการปรับตัว (Adjustment disorder with depressed mood) จำนวน 7 ราย ทั้งหมดได้รับการบำบัดด้วยยาต้านเศร้า ยาคลายกังวล และการบำบัดทางจิตใจ โดยกลุ่มครอบครัวผู้เสียชีวิตมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้ามากที่สุด โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเครือญาติเดียวกันเสียชีวิตพร้อมกัน 5 ราย ต้องติดตามดูแลเยียวยาจิตใจเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบผู้มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในรพ.จิตเวช

ทางด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีชาวกัมพูชาเสียชีวิต 3 ราย และเห็นเหตุการณ์อีกกว่า 70 ราย ซึ่งควรได้รับการตรวจคัดกรองภาวะเครียดและซึมเศร้าด้วย ซึ่งทีมสุขภาพจิต ได้เข้าพบที่ปรึกษาทูตแรงงานกัมพูชา เพื่อขอความร่วมมือในการติดตามแรงงานกัมพูชา 10 ราย ที่ประสบเหตุ เนื่องจากมีการย้ายไปทำงานที่อื่น อย่างไรก็ตาม ที่ปรึกษาทูตแรงงานได้ขอรายชื่อแรงงานกัมพูชาที่ได้รับการประเมินไว้ทั้งหมดเพื่อติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไปแล้ว

ทั้งนี้ โรควิตกกังวลเฉียบพลันหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ เป็นภาวะวิตกกังวลหลังเกิดเหตุรุนแรงที่คุกคามชีวิตหรือทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย เป็นเร็วหายเร็ว มีอาการอย่างสั้นที่สุดเพียงแค่ 2 วัน นานที่สุดไม่เกิน 4 สัปดาห์ อาการที่ปรากฏ เช่น เฉยเมย เย็นชา งุนงง ขาดสมาธิ ย้ำคิดย้ำทำ ผวา ตกใจง่าย นอนหลับยากหรือนอนไม่ค่อยหลับ หวาดกลัวสถานที่เกิดเหตุ เป็นต้น หากหลัง 4 สัปดาห์แล้วยังมีอาการเหล่านี้อยู่ ถือว่าเป็นโรคพีทีเอสดี ส่วนภาวะซึมเศร้าจากปัญหาการปรับตัวเป็นภาวะที่ผู้ป่วยเป็นทุกข์ มีอาการเศร้าเสียใจ รู้สึกสิ้นหวัง ไร้คุณค่า กระวนกระวายใจ หลังประสบเหตุการณ์สูญเสียหรือวิกฤติในชีวิต เช่น อกหัก ตกงาน ญาติเสีย อาการจะไม่รุนแรงเท่ากับโรคซึมเศร้า ความผิดปกติจะเกิดในระยะ 1 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ แต่ไม่เกิน 6 เดือน หากนานกว่านั้นจะเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้