ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกคนล้วนมีความทรงจำในอดีต มากบ้าง น้อยบ้างกันทั้งสิ้น แต่หลายคนเลือกที่จะเก็บเฉพาะความทรงจำที่ดี ที่ควรค่าแก่การจดจำไว้เท่านั้น สิ่งที่กระทบจิตใจในทางลบ หลายคนมักเลือกที่จะเก็บเฉพาะ “เหตุ” ไว้เป็นบทเรียนเพื่อที่จะไม่ทำซ้ำ ส่วน “ผล” ก็ลืมๆไป เพราะเก็บไว้ในใจก็รังแต่จะทำให้จิตใจหดหู่

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตราเป็นกฎหมายตั้งแต่ พ.ศ. 2545 นับจนถึงวันนี้ก็เกือบ 12 ปีแล้ว หลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การเปลี่ยนกระบวนการไปรับการรักษาพยาบาลจาก “การสงเคราะห์” ไปเป็น “สิทธิของประชาชน” โดยเขียนไว้ในหมายเหตุของ พ.ร.บ. ส่วนหนึ่งว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ชนชาวไทยย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ

คนไทย โดยเฉพาะคนไทยผู้ยากไร้ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จากเดิมที่ต้องกำเงินไปโรงพยาบาลเพื่อจ่ายค่ายา บ้างที่ไม่มีก็ต้องไปขอ “สงเคราะห์” เป็นครั้งคราว เปลี่ยนจาก “ผู้ขอ” เป็น “ผู้ทรงสิทธิ” โดยมีรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการหางบประมาณด้านรักษาพยาบาล และมอบหมายให้ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สปสช.” ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาล

เมื่อเป็นสิทธิอันชอบธรรมแล้ว ประชาชนก็ไม่ต้องไปขอรับการ “สงเคราะห์” อีกต่อไป แต่กระนั้นกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังได้ระบุ “หน้าที่” ควบคู่กับ “สิทธิ” ที่ประชาชนพึงปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย เช่น ประชาชนต้องไปแจ้งต่อรัฐก่อนว่าจะเลือกโรงพยาบาลใดเป็นที่ฝากผีฝากไข้ยามเจ็บป่วย หรือที่เรียกว่า การขอลงทะเบียนเลือก “หน่วยบริการประจำ” ซึ่งโดยหลักปกติก็ต้องเลือกหน่วยบริการที่อยู่ใกล้บ้านหรือใกล้ที่พักอาศัยที่อยู่ประจำเป็นหลัก เพราะเจ็บไข้ได้ป่วยจะได้เดินทางไปโดยง่าย หรือโรงพยาบาลจะส่งรถมารับก็มาโดยสะดวก

เมื่อปฏิบัติตาม “หน้าที่” เช่นนี้แล้ว การใช้ “สิทธิ” จึงเป็นไปโดยสมบูรณ์ ประชาชนที่เจ็บป่วยเข้ารับบริการยังหน่วยบริการประจำ ย่อมไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ยกเว้นเจ็บไข้ได้ป่วยกรณีฉุกเฉินที่สามารถไปรับบริการยังหน่วยบริการอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการประจำได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน

การให้ “สิทธิ” ด้านการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในปี 2545 ทำให้ผู้ป่วยไปรับบริการในโรงพยาบาลมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในขณะที่บุคลกรทางการแพทย์ยังคงมีเท่าเดิม ด้านหนึ่งจึงทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและภาระในการจัดการแก่ผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น สะท้อนผ่านการสำรวจความพึงพอใจของเอแบคโพลล์ในปี 2546 พบว่าประชาชนมีความพึงพอใจมากถึงร้อยละ 83 แต่ผู้ให้บริการมีความพึงพอใจเพียงร้อยละ 46 เท่านั้น อย่างไรก็ตามความพึงพอใจของทั้งสองส่วนค่อยๆเพิ่มมากเห็นได้จากผลการสำรวจใน 10 ปีต่อมา(ปี 2556) ผู้รับบริการมีความพึงพอใจเพิ่มมากถึงร้อยละ 95 และผู้ให้บริการมีความถึงพอใจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66

แม้กระนั้นก็ยังมีผู้ให้บริการกลุ่มหนึ่ง ยังคงมีความหลังฝังใจว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นระบบที่นำความยากลำบากมาให้ ทำให้ต้องคดี ถูกฟ้องร้อง และพยายามยกแม่น้ำทั้งห้ามาชักจูงให้ผู้มีอำนาจเห็นถึงความเลวร้ายของระบบหลักประกัน โดยใช้ความรู้สึกบนฐานความเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก

แต่นั่นก็ยังไม่ร้ายเท่ากับ “การสมคบคิด” กันระหว่างผู้ที่มีอำนาจในพื้นที่ที่เคยมีความหลังฝังใจกับคนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในพื้นที่ และเมื่อมีบทบาทในระดับชาติก็ขยายความฝังใจนี้มาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ มีขั้นมีตอน มีเป้าหมายร่วมกันทางพฤตินัยที่ชัดเจน

โลกเปลี่ยนไปมากแล้ว คู่กรณีก็ไม่อยู่แล้ว หากลบ “ความทรงจำ” เก่าๆที่ไม่ดีออกไปได้ ก็น่าจะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น และพลอยจะทำให้ระบบสุขภาพของไทยเจริญรุดหน้าไปได้บ้าง ไม่มากก็น้อย.