ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์จับมือทุกภาคส่วนร่วมดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ เน้นความเชื่อมโยงในรูปแบบภาคีเครือข่าย ชุมชน ครอบครัว และการจัดบริการภาครัฐ พร้อมเผยรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุที่หลากหลาย อาทิ การจัดบริการผู้สูงอายุช่วงกลางวัน การจัดหอผู้ป่วยสำหรับผู้สูงอายุ การจัดหน่วยดูแลผู้สูงอายุระยะกลางก่อนส่งกลับบ้าน การจัดหน่วยดูแลผู้สูงอายุระยะยาว  และการจัดทีมติดตามเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน รองรับสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (26 สิงหาคม 2557) ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการสังเคราะห์รูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการ (เขตเมืองและเขตชนบท) ว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ในปี 2556 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากถึง 9.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14.7 ของประชากรรวม 64.6 ล้านคน (จากการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ.2553-2583 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) สถานการณ์ดังกล่าวเกิดจากการพัฒนาความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุข มูลเหตุดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากรทุกกลุ่มวัย รวมถึงส่งผลกระทบต่อ  ทุกภาคส่วน  

ปัจจุบันมีการจัดการระบบบริการดูแลผู้สูงอายุหลายรูปแบบ ซึ่งมีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกัน โดยจะต้องได้รับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่องและมีการจำแนกกลุ่มผู้สูงอายุเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มติดบ้าน เป็นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้  

กลุ่มติดเตียง เป็นผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงต้องรับการรักษาพยาบาลตลอดเวลา  

และกลุ่มติดสังคม  เป็นผู้ที่สามารถเดินเองและใช้ชีวิตในสังคมได้ จะเน้นการดูแลส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้หลักการบริหารจัดการแบบบูรณาการที่มีอยู่ในปัจจุบันเน้นความเชื่อมโยงในรูปแบบภาคีเครือข่าย ชุมชน ครอบครัว  และการจัดบริการภาครัฐ โดยมีศูนย์ประสานงาน Home Health Care เป็นจุดเชื่อมระหว่างสถานบริการทุกระดับกับชุมชน 

สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการ (เขตเมืองและเขตชนบท) เพื่อพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของพื้นที่ จัดทำคู่มือ/แนวทางการจัดระบบบริการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการ และสร้างภาคีเครือข่ายการดำเนินงานดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบบูรณาการร่วมกับเขตบริการสุขภาพและหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพัฒนากระบวนการที่จะนำไปสู่การจัดบริการสุขภาพแบบบูรณาการ

กรมการแพทย์จึงต้องประสานเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงระบบโดยเฉพาะ ส่วนเชื่อมต่อให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยมีสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ เป็นหน่วยงานหลัก มีหน้าที่จัดการความรู้ เพื่อนำมาใช้ในระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยการประสาน ความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น สถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพสุขภาพ สภาวิชาชีพ สภาผู้สูงอายุ สภาวิจัย สถาบันวิจัย  ร่วมจัดระบบการบริการต้นแบบ เพื่อการวิจัย การเป็นแหล่งเรียนรู้ และประสานกับหน่วยงานบริการสุขภาพผู้สูงอายุทุกฝ่าย เพื่อนำระบบที่มีคุณภาพไปใช้ในการทำงาน ติดตามประเมินผล และปรับปรุงระบบอย่างต่อเนื่อง 

การจัดบริการผู้สูงอายุได้พัฒนาบริการในโรงพยาบาลและหน่วยงานต่างๆ ของกรมการแพทย์ เพื่อเป็นต้นแบบและได้จัดตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี รวมทั้งมีโครงการจัดตั้ง สถานพยาบาลต้นแบบที่อาคารกรมการแพทย์ 6 ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข และจะจัดบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน เพื่อเป็นต้นแบบและเพื่อการวิจัยในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ รวมทั้งกำหนดขีดความสามารถของโรงพยาบาลระดับต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดเครือข่ายการส่งต่อตาม Service Plan และมีการกำหนดโรคสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมอง โรคข้อเสื่อม เพื่อกำหนดรูปแบบ การดูแลรักษา และการส่งต่อผู้ป่วยโดยลงรายละเอียดเฉพาะโรค เพื่อให้มีคุณภาพมากที่สุด ที่ผ่านมามีการนำรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุที่หลากหลายไปใช้ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั้งในเขตเมืองและชนบทแต่ยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ได้แก่ การจัดบริการผู้สูงอายุช่วงกลางวัน การจัดหอผู้ป่วยสำหรับผู้สูงอายุ การจัดหน่วยดูแลผู้สูงอายุระยะกลางก่อนส่งกลับบ้าน การจัดหน่วยดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และการจัดทีมติดตามเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้าน

นอกจากนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาเพื่อร่วมกันจัดการความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ วิจัย พัฒนากระบวนการดูแล และกำหนดแนวทางการผลิตบุคลากรเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล แพทย์แผนไทย ศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รวมทั้งการพัฒนาความรู้ให้แก่อาสาสมัครในชุมชน สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ และสมาชิกในครอบครัว ที่ต้องรับบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน