ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” ยื่นหนังสือค้านข้อเสนอสธ. หลังสธ.เดินหน้าไม่เลิก ส่งหนังสือถึงสปสช.ขอชงคณะอนุการเงินการคลังฯ พิจารณาจัดสรรงบปี 58 ส่งตรงยังเขตบริการสุขภาพ พร้อมยุบกองทุนเฉพาะโรค หวั่นกระทบหน่วยบริการและประชาชน แถมผิดหลักการ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้หากเดินหน้าประชาชน 49 ล้านคนค้านแน่นอน ด้าน “นิมิตร์” ยันกองทุนเฉพาะโรค ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา แถมลดภาระ รพ. เผยปี 58 เตรียมจัดงบรวมจัดซื้อยามะเร็ง ขณะที่ “แพทย์ชนบท” ระบุ สธ.เดินหน้าเขตบริการสุขภาพ ผิดข้อตกลง คสช.เดินหน้า “เขตสุขภาพประชาชน” ไม่ฟังเสียงประชาชน พร้อมหวั่นหาก ปลัด สธ. นั่งเก้าอี้ รมว.สธ. วุ่นแน่ เชื่อประชาชนแต่งดำทั้งประเทศ

28 ส.ค.57 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) – เมื่อเวลา 10:30 น. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นำโดย นส.แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในระหว่างการดำเนินการประชุมเพื่อคัดค้านการพิจารณาการปรับระบบบริหารการเงินการคลังตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระการประชุมในวันนี้ (28 ส.ค.)  

นส.แสงศิริ กล่าวว่า กรณีที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ทำหนังสือถึงคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังฯ สปสช. ให้พิจารณาการปรับวิธีการกระจายงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว จากที่ส่งตรงไปยังหน่วยบริการให้เป็นแบบรวมศูนย์โดยจ่ายไปยังเขตบริการสุขภาพ สธ. พร้อมกับให้มีการปรับรูปแบบงบเหมาจ่ายรายหัวให้เหลือเพียง 4 กองทุนย่อย คือ 1.งบผู้ป่วยนอก 2.งบผู้ป่วยใน 3.งบส่งเสริมป้องกันโรค และ 4.งบกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 41 โดยให้ยุบกองทุนย่อยอื่นๆ นั้น

ทั้งนี้จากการนำเสนอเขตบริการสุขภาพ สธ. ที่ผ่านมา ยังพบว่า กรณีที่ สธ.ขอให้ สปสช.ส่งงบเหมาจ่ายตรงไปยังเขตก็ยังขาดความชัดเจนในการกระจายงบไปยังหน่วยบริการว่าจะใช้หลักการใดจัดสรร จะยังคงคิดตามหัวประชากรหรือไม่ หรือมีหลักวิชาการใดรองรับเพื่อกระจายงบ ซึ่งอาจทำให้เกิดการกระจายงบที่ไม่เหมาะสมได้ เช่นเดียวกับขอให้ สปสช.ยุบกองทุนย่อย ทั้งกองทุนโรคเรื้อรังและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงไปรวมไว้ในงบเหมาจ่าย ที่อาจทำให้หน่วยบริการลังเลการดูแลผู้ป่วยเพราะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งข้อเสนอของ สธ.นี้นอกจากไม่เป็นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการ รวมถึงถึงประชาชน 49 ล้านคน ในฐานะผู้รับบริการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพไม่เห็นด้วย

“กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจะเดินหน้าคัดค้านจนถึงที่สุด จากการยื่นหนังสือต่อ ดร.คณิศระบุว่า ข้อเสนอของทาง สธ.ยังเป็นเพียงข้อเสนอ ซึ่งในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณต้องเป็นไปตามหลักการใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่หากมีความเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณที่กระทบต่อประชาชน ยืนยันว่าทางฝ่ายประชาชน 49 ล้านคนเองคงอยู่นิ่งไม่ได้” แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หาก สปสช.ดำเนินการตามที่ สธ.เสนอยุบกองทุนบริหารเฉพาะโรค จะส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยแน่นอน ซึ่งกรณีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เนื่องจากยารักษามีราคาแพงมาก หากปล่อยให้หน่วยบริการเป็นผู้รับผิดชอบ จะไม่มีงบเพียงพอที่จะจัดซื้อได้ ด้วยเหตุนี้ ปีงบประมาณ 2558 สปสช.จึงเตรียมที่จะบริหารจัดซื้อยามะเร็ง (เคมีบำบัด) โดยแยกเป็นรายการย่อยบริการกรณีเฉพาะ 31.33 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งนอกจากช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ ขณะที่การผ่าตัดหัวใจจากเดิมที่ สปสช.เปิดช่องทางพิเศษเพื่อลดคิวการรักษาให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ ซึ่งเมื่อจำนวนผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ก็ดึงการผ่าตัดหัวใจเข้าสู่ระบบผู้ป่วยในปกติเช่นกัน

“การแยกกองทุนย่อยเฉพาะโรคของ สปสช. เป็นไปเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการและลดภาระหน่วยบริการ ซึ่งการคำนวณและหักงบประมาณมีหลักการในการคำนวณโดยดูยอดจำนวนผู้ป่วยย้อนหลัง เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยในอนาคต แต่ที่ผ่านมา สธ.มักคิดว่า สปสช.ไม่มีหลักคิดในการคำนวณ” นายนิมิตร์ กล่าว

ขณะที่ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ทางแพทย์ชนบทไม่เห็นด้วยกับแนวทาง สธ.ที่จะมีการกระจายงบไปยังเขต เพราะการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบนี้จะไม่ต่างจากในอดีต ซึ่งในที่สุดงบประมาณจะลงสู่หน่วยบริการไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนกับแท่งไอติมที่ละลาย ทั้งยังเสี่ยงต่อการคอรัปชั่นสูง เห็นได้จากกรณี ป.ป.ช.ยังชี้มูลหัวหน้าผู้ตรวจกระทรวง สธ. นอกจากนี้ยังต้องถามถึงประสิทธิภาพของ สธ.ในการบริหารงบประมาณ เพราะเพียงแค่งบค่าเสื่อมที่ทาง สธ.ต้องกระจายให้หน่วยบริการยังเป็นปัญหา จนถึงขณะนี้ งบปี 57 สธ.ยังไม่ได้สั่งจ่ายให้กับหน่วยบริการ

นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า หาก สธ.จะเดินหน้าเขตบริการสุขภาพวันนี้ต้องถามว่า 1.ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากเขตบริการสุขภาพ 2.หน่วยบริการทั้งในและนอกสังกัด สธ.ได้ประโยชน์อย่างไร 3.การจัดสรรงบประมาณตามที่ สธ.เสนอ สอดคล้องกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพหรือไม่ โดยเฉพาะในหมวดเฉพาะกาลที่ให้กระจายงบลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง และ 4.การยังคงเดินหน้าเขตบริการสุขภาพ สธ. ได้เป็นไปตามข้อตกลงกับทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ให้เดินหน้าเขตสุขภาพประชาชนหรือไม่

“หนังสือที่ สธ.ส่งถึง สปสช. ให้นำเรื่องเขตบริการสุขภาพ สธ. เข้าสู่การพิจารณาคณะอนุกรรมการการเงินการคลังฯ โดยลงวันที่ 19 สิงหาคม 2557 เป็นวันหลังจากที่มีข้อตกลงร่วมกันกับทาง คสช.ในการร่วมเดินหน้าเขตสุขภาพประชาชน สะท้อนให้เห็นว่า ปลัด สธ.คนนี้ไม่เคยหยุด ยังคงเดินหน้าเอาประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อดึงงบประมาณกับไปยัง สธ.เพื่อบริหาร นอกจากไม่หยุดนิ่งแล้ว ยังไม่ฟังเสียงประชาชน วันนี้เป็นปลัด สธ.ยังขนาดนี้ หากเป็น รมว.สธ.จะขนาดไหน เชื่อว่าในที่สุดประชาชนคงต้องลุกขึ้นมาแต่งดำทั้งประเทศแน่นอน” ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าว 

ทั้งนี้ ผลการประชุมอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง ที่มีดร.คณิศ แสงสุพรรณ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธาน ได้ข้อสรุปว่าคงไม่สามารถเปลี่ยนหลักการกองทุนตามที่สธ.เสนอได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดของแต่ละกองทุนชัดเจนอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังไม่มีตัวแทนจากสธ.เดินทางมาชี้แจงรายละเอียด จึงขอให้มีมติรับทราบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อาจมีการหารือในการประชุมกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในวันที่ 15 ก.ย. นี้อีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.จี้สปสช.ตั้งกองทุนบัตรทองระดับเขต ปรับงบรายหัวเหลือ 4 รายการ

หมอบัญชายัน ไม่ยุบกองทุนย่อย แต่จะบูรณาการ ไม่กระทบผู้ป่วยแน่นอน