ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส. เปิดรายงานสถานการณ์โรคไม่ติดต่อคร่าชีวิตคนไทยปีละ 3 แสน ไทยอาการหนักคนป่วยมากกว่าแนวโน้มทั่วโลก ป่วยไม่รู้ตัว พฤติกรรมแย่กินหวาน มัน เค็ม เกินมาตรฐาน 2 เท่า ไม่เคลื่อนไหว เร่งทุกหน่วยงานร่วมกระตุ้นคนเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี

นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยนโยบายสร้างเสริมสุขภาพ (สวน.) กล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ “รายงานสถานการณ์โรค NCDs วิกฤตสุขภาพ วิกฤตสังคม” ซึ่งเป็นรายงานฉบับแรกของประเทศไทยที่รายงานสถานการณ์และแนวโน้มของกลุ่มโรคเรื้อรัง หรือ NCDs ว่า เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่มโรค NCDs เป็นฆาตกรฆ่าคนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งคือ 300,000 คนต่อปี ซึ่งมากกว่าสาเหตุการเสียชีวิตอื่นๆ ทุกสาเหตุรวมกันถึง 3 เท่า และยังก่อปัญหาและภาระกับคนรอบข้างผู้ป่วย ทำลายคุณภาพประชากร และโรค NCDs ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล โดยรัฐต้องแบกรับต้นทุนที่เกิดจากโรคNCDs ถึง 200,000  ล้านบาทต่อปี คิดเป็นต้นทุนที่คนไทยต้องแบกรับมูลค่าถึง 3,182 บาทต่อปี ทุกๆ ปี จะมีคนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นปีละ 8,000 คน

“การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ค่าใช้จ่ายร้อยละ 80 จะหมดไปในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิต หากรัฐจะลงทุนเพื่อป้องกันโรคจะใช้งบประมาณ 12 บาทต่อคน แต่ถ้าจะใช้งบในการรักษาโรค จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ซึ่งประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคเรื้อรังคิดเป็นร้อยละ 73 เทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกอยู่ที่เพียงร้อยละ 63 ที่สำคัญคือ คนป่วยไม่รู้ตัวว่าตัวเองป่วย โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูง พบว่า ร้อยละ 60 ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ซึ่งการแก้ปัญหานี้ จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เฉพาะหน่วยงานด้านสาธารณสุข” นพ.ทักษพล กล่าว

นายสุปรีดา อดุลยานนท์

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีความตระหนักถึงปัญหาโรค NCDsมากขึ้น ว่าเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยเฉพาะ 4 พฤติกรรมสำคัญ ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า การกินอาหารที่อาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม และการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้เล็งเห็นปัญหาสุขภาพว่ากระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย และจำเป็นต้องใช้เครื่องมือ เช่น มาตรการทางภาษีและราคา การควบคุมการโฆษณา การจำกัดการเข้าถึง และการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ  ประสานเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งภาคราชการ ภาควิชาชีพสุขภาพ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ เพื่อรวมลดปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิผลต่อไป

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาเกิดจากบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป คนมีอายุคนยืนยาวขึ้น การให้การรักษาที่ครอบคลุมมากขึ้นและเน้นที่การรักษายังทำให้เกิดปัญหาโรค เพราะไม่มีการรักษาลึกลงไปถึงพฤติกรรมและทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งกำลังจะมีการเปลี่ยนทัศนคติของแพทย์ให้เปลี่ยนการรักษาโดยเน้นพฤติกรรมและการให้ความรู้ประชาชน แต่ขณะเดียวกันสังคมต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน เช่น สินค้าที่ทำลายสุขภาพ ทั้งนี้ จะมีการทำ พ.ร.บ.ควบคุมโรคไม่ติดต่อ เพื่อดูแลปัจจัยเสี่ยง เช่น การเก็บภาษีตามอัตราการเติมน้ำตาล โซเดียม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้ ในที่สุดต้องทำให้หน้าที่การดูแลสุขภาพเป็นของคนไทยทุกคน