ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว กระทรวงสธ. โผไม่พลิก นพ.รัชตะ รมว.สธ. นพ.สมศักดิ รมช.สธ. รมว.สธ.คนใหม่เผยคนไทยต้องได้รับบริการสุขภาพที่ดี ส่วนปัญหาในสธ.ยังไร้ความเห็น ขอหารือกับฝ่ายต่างๆ ก่อน ภาพรวมครม.ประยุทธ์ 1  ทหาร-ตำรวจ 13 พลเรือน 20 ผู้หญิง 2 

31 ส.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 333 ตอนพิเศษ 164 ง ได้มีการประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐมนตรี ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 24 ส.ค.57 นั้น บัดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เลือกสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศสืบไปแล้ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งัต้งรัฐมนตรีดังต่อไปนี้

1. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

2. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร เป็น รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

3. นายวิษณุ เครืองาม เป็น รองนายกรัฐมนตรี

4. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็น รองนายกรัฐมนตรี

5. นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็น รองนายกรัฐมนตรี

6. ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

7. นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

8. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

9. นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

10. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

11. นายสุธี มากบุญ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

12. นายสมหมาย ภาษี เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

13. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

14. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

15. นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

16. พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

17. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

18. นายณรงค์ชัย อัครเศรณี เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

19. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

20. นายพรชัย รุจิประภา เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสาร

21. นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

22. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

23. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

24. พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

25.นายกฤษณพงศ์ กีรติกร เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

26. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

27. นพ.สมศักดิ์ ชุนหรัศมิ์ เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

28. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

29. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

30. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

31. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

32. นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน

สำหรับประวัติ ของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน นั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย ระบุว่า เกิดวันที่ 13 ส.ค. 2493 ปัจจุบันอายุ 64 ปี

จบการศึกษาจาก Fellow of the American College of Endocrinology, Fellow in Endocrinology, University of Massachusetts Medical School, U.S.A., อนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ, วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล และแพทยสภา, อนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว จากแพทยสภา, ประกาศนียบัตรชั้นสูงสาขาอายุรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล, แพทยศาสตร์บัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ตำแหน่งที่สำคัญในอดีต เคยทำหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (พ.ศ. 2542 – 2547), อนุกรรมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมอันตรายในการใช้ยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ. 2538 – 2542), ประธานวิชาการราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2547 – 2548), กรรมการบริหารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2543 – 2547), อุปนายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2545 – 2547) และประธานวิชาการ สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2535 – 2543)

ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน

ได้ทำหน้าที่ในตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, กรรมการ scientific advisory committee มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการในคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ก่อนจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 26 มกราคมพ.ศ. 2555

ได้รับเลือกให้เป็นประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.56 แทน ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 1 ปี ในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 

ในปี พ.ศ. 2557 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 ก.ค.57 ก่อนจะลาออก 28 ส.ค.57 

ล่าสุด 31 ส.ค. 2557 ได้รับตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจของศ.นพ.รัชตะ ในช่วงการชุมนุมของกลุ่มกปปส.เพื่อขับไล่รัฐบาลนส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น นพ.รัชตะ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการ หลังจากที่มีการยุบสภาไปเมื่อเดือนธ.ค.56

ขณะที่เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.นพ.รัชตะ หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นรมว.สธ. ว่า ขณะนี้กำลังเตรียมพร้อมในการเข้ามาทำงาน โดยเบื้องต้นจะร่วมคิด ร่วมทำกับข้าราชการกระทรวง สธ.เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข โดยหลักการคือ ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างดีที่สุด ส่วนกระบวนการทำงานจะหารือร่วมกันทุกฝ่ายก่อน       

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ศึกษาปัญหาในกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนหรือไม่ ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า คงต้องเข้าไปคุยกับแต่ละฝ่ายก่อน ซึ่งขณะนี้คงยังให้คำตอบไม่ได้ แต่โดยหลักการต้องให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด 

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

ด้านประวัติของ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ นั้น เกิดเมื่อวันที่ 28 ก.ค.2496 ปัจจุบันอายุ 61 ปี ประวัติการศึกษา ปริญญาโท สาขาสาธารณสุขศาสตร์ จาก Royal Tropical Institute Amsterdam เนเธอร์แลนด์ ประกาศนียบัตร สาขาแพทยศาสตร์ศึกษา คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาตรีสาขาแพทยศาสตร์ศึกษา คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติการทำงานที่สำคัญ ผอ.รพ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ (2521-2524) ผอ.รพ.ประทาย จ.นครราชสีมา (2524-2528) เป็นผอ.คนแรกของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) (2535-2541) ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข (2543-2544) เลขาธิการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) (2543-2557) ประธานคณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปชุดที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน (2553-2555) คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (2557)

ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 31 ส.ค.57 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจในระยะสั้น คือ เป็นหนึ่งในเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ที่มีการแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อวันที่ 10 ม.ค.57 นำเสนอจุดยืน คัดค้านการรัฐประหาร, คัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ, เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ, สนับสนุนการปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย  ซึ่งเครือข่าย “2 เอา 2 ไม่เอา” ประกอบด้วย 10 องค์กร ประกอบด้วย สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) สมัชชาคนจน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มวลมหาประชาคุย เครือข่ายสลัมสี่ภาค ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) กลุ่มโลกสวย ปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี และเครือข่ายภาคประชาสังคม

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 คสช. ได้แต่งตั้ง นพ.สมศักดิ์ ให้เป็นคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 13 ส.ค.57 ขณะที่ก่อนหน้านั้น ก็มีชื่อของนพ.สมศักดิ์ เป็นหนึ่งในกรรมการประสานระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ชุดที่มีดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้แต่งตั้งโดยที่ปรึกษาคสช. เพื่อทำหน้าที่ปรับระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบให้มีความเท่าเทียมกัน