ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปลัดสธ. กำชับโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 3 ลุ่มน้ำ 10 จังหวัด รวม 27 แห่ง ป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลและเตรียมความพร้อมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชน พร้อมสำรองยาเวชภัณฑ์ชุดน้ำท่วมไว้ที่ส่วนกลาง 300,000 ชุด หากประชาชนป่วยฉุกเฉิน ให้โทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วนกู้ชีพ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือปัญหาน้ำท่วมจากฝนตกหนัก ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง 3 ลุ่มน้ำ 10 จังหวัด รวม 27 แห่ง ให้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมในการป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาล เตรียมแผนบริการในภาวะน้ำท่วมฉุกเฉิน เช่น แผนขนย้ายผู้ป่วยในโรงพยาบาล การส่งต่อผู้ป่วย แผนการจัดบริการตรวจรักษานอกโรงพยาบาล และเตรียมหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอดเวลา และให้สำรวจกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับอันตรายจากน้ำท่วม 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงหลังคลอดบุตร หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ และผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพื่อให้อยู่ในที่ปลอดภัยเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ หากประชาชนทุกพื้นที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถโทรขอความช่วยเหลือที่สายด่วนกู้ชีพ 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ได้ให้ส่วนกลางสำรองยาชุดน้ำท่วมเบื้องต้นจำนวน 300,000 ชุด เพื่อสนับสนุนจังหวัดในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน

สำหรับโรงพยาบาล 27 แห่ง ที่ตั้งในพื้นที่ 3 ลุ่มน้ำ 10 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม ดังนี้ 1. ลุ่มน้ำชี 2 จังหวัด คือ จ.ร้อยเอ็ด ให้เฝ้าระวัง 3 แห่ง ได้แก่ รพ.อาจสามารถ รพ.ธวัชบุรี รพ.เสลภูมิ และ จ.ยโสธร ได้แก่รพ.มหาชัย 2.ลุ่มน้ำยม มี 3 จังหวัด คือ จ.แพร่ เฝ้าระวัง 5 แห่ง ได้แก่ รพ.วังชิ้น รพ.เด่นชัย รพ.สูงเม่น รพ.ลอง และรพ.ร้องกวาง จ.พิษณุโลกเฝ้าระวัง รพ.บางระกำ และ จ.พิจิตร เฝ้าระวัง 3 รพ. ได้แก่ รพ.สามง่าม รพ.โพทะเล และรพ.พิจิตร 3.ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 5 จังหวัด คือ จ.ลพบุรี เฝ้าระวัง 2 แห่งได้แก่ รพ.ลพบุรี รพ.โคกสำโรง จ.อ่างทอง เฝ้าระวัง 3 แห่ง ได้แก่ รพ.อ่างทอง รพ.โพธิ์ทอง รพ.วิเศษชัยชาญ จ.ชัยนาท เฝ้าระวังรพ.ชัยนาท จ.สิงห์บุรี เฝ้าระวัง 2 แห่งได้แก่ รพ.สิงห์บุรี รพ.อินทร์บุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา เฝ้าระวัง 7 แห่ง ได้แก่ รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.ท่าเรือ รพ.บางไทร รพ.มหาราช รพ.บางปะอิน รวมทั้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางบาล

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม ขอความร่วมมือประชาชน อย่าทิ้งขยะ หรือถ่ายอุจจาระ ทิ้งเศษอาหารลงในน้ำ ขอให้ใส่ถุงดำหรือถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่น เพื่อนำไปกำจัดให้ถูกวิธี ป้องกันเชื้อแพร่กระจายในน้ำ ภายหลังจากลุยน้ำ ขอให้รีบล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้ง รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ดื่มน้ำสะอาดบรรจุขวดหรือน้ำที่ต้มสุกแล้ว ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังขับถ่าย สวมเสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอและดูแลบ้านเรือนให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษ เช่น ตะขาบ งู เข้าไปอาศัย