ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ -องค์การอนามัยโลกเผยยอดผู้เสียชีวิตจากโรคอีโบลา เพิ่มขึ้นทะลุเกิน 1,900 คนแล้ว ตั้งเป้ายับยั้งการแพร่ระบาดให้ได้ใน 6-9 เดือน ขณะ"จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน" ประกาศร่นเวลาทดลองวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดนี้ในคน มาเป็นปีหน้า

นางมากาเร็ต ชาน (ขอบคุณภาพจาก canada.com)

นางมากาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (ฮู) แถลงว่า นับถึงสัปดาห์นี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลา ประมาณ 3,500 คน ส่วนมากอยู่ในกินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,900 คนแล้ว มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดก่อนหน้านี้ 24 ครั้งรวมกัน นับตั้งแต่โรคนี้เริ่มระบาดเป็นครั้งแรกในปี 2519

นางชาน กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ระบาดลุกลามเกินกว่าประเทศเหล่านี้ จะควบคุมได้ และกลายเป็นภัยคุกคามของโลกแล้ว โดยองค์อนามัยโลกหวังว่า ประชาคมโลกจะเพิ่มความพยายามมากกว่านี้ในการช่วยหยุดยั้งการระบาด  และว่าเมื่องบประมาณ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเทคนิคจากความร่วมมือของนานาชาติเริ่มส่งมาถึงพื้นที่เกิดเหตุ จะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดได้ใน 6-9 เดือน

ในประเทศที่ระบาดหนักอย่าง กินี เซียร์ราลีโอน และไลบีเรีย ต้องควบคุมให้ได้ภายใน 3 เดือน ส่วนประเทศที่พบการระบาดเฉพาะถิ่น อย่าง เซเนกัล และคองโก ที่พบการระบาดของไวรัสอีโบลาอีกสายพันธุ์ อยากให้หยุดการแพร่เชื้อภายใน 2 เดือน

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เผยด้วยว่า ทางองค์กรกำลังพยายามระดมทีมสาธารณสุขจากหลายประเทศ แต่ยังไม่เพียงพอ  ทำให้ยากที่จะรับมือกับการระบาดได้ทัน ประกอบกับสายการบินหลายสายยกเลิกเที่ยวบินไปประเทศที่มีการระบาด ยิ่งเพิ่มความยากลำบากในการเดินทางไปยังภูมิภาคของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

ทางด้านนายเคจิ ฟูกุดะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก กล่าวถึงปัญหาคลินิกและโรงพยาบาลมีเตียงไม่พอรองรับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่บ้านว่า จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่เพิ่มอีกหลายพันคนเพื่อดูแลผู้ป่วย รวมถึงยานพาหนะเพื่อลำเลียงผู้ป่วยและศพ

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าประเทศที่มีการระบาด เช่น ไลบีเรีย กำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหารราคาอาหารแพงขึ้น สืบเนื่องจากการปิดพรมแดน และการยกเลิกเที่ยวบิน

นอกจากนี้องค์การอาหารและเกษตร สหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เตือนด้วยว่า การประกาศพื้นที่กักโรค ที่ปิดเมืองทั้งเมืองในประเทศที่มีการระบาด อาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก และส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารได้

เหยื่ออีโบลาไนจีเรียดับรายที่ 7

กระทรวงสาธารณสุขไนจีเรียรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากอีโบลาเป็นรายที่ 7 เป็นผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเดียวกับนายแพทย์ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้านี้  ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดของไนจีเรียเป็นคนไข้ที่รักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยที่แยกเฉพาะ ในเมืองพอร์ท ฮาร์คอร์ต ที่เดียวกับนายแพทย์ผู้เสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 22 ส.ค. หลังจากรักษาชายชาวไลบีเรีย ผู้นำอีโบลามาแพร่ในไนจีเรีย

นายแดน โวเมห์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขไนจีเรีย เปิดเผยว่า ขณะนี้มีชาวไนจีเรีย 18 คน รวมทั้งคนที่เสียชีวิต ได้รับการยืนยันว่าติดไวรัสอีโบลา โดย 14 คนอยู่ในเมืองลากอส ศูนย์กลางทางการเงิน อีกสี่คนอยู่ในพอร์ท ฮาร์คอร์ต เมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมน้ำมันที่ห่างออกไป 435 กิโลเมตร

อนามัยโลกเตือนด้วยว่า การระบาดของไวรัสอีโบล่า ในพอร์ท ฮาร์คอร์ต นั้น อาจแพร่กระจายเป็นวงกว้าง และรวดเร็ว กว่าในเมืองลากอส และยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการกลายพันธุ์ด้วย

จอห์นสันเตรียมทดลองวัคซีนในคน

ขณะที่ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (เจแอนด์เจ) กลุ่มบริษัทชั้นนำของโลก กลายเป็นบริษัทรายล่าสุดที่ออกมาเคลื่อนไหว ในเรื่องการพัฒนาวัคซีนอีโบลา หลังบริษัทออกมาเปิดเผยว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ของบริษัท จะเริ่มนำวัคซีนอีโบลาตัวใหม่มาทดลองทางคลินิกช่วงต้นปี 2558  โดยใช้เทคโนโลยีจากบาวาเรียน นอร์ดิก บริษัทไบโอเทคโนโลยีจากเดนมาร์ก

ความเคลื่อนไหวของเจแอนด์เจเกิดขึ้น หลังจากแกลกโซ สมิธไคลน์ ตัดสินใจจะเริ่มทดลองวัคซีนอีโบลากับมนุษย์ในเดือนนี้ ขณะที่วัคซีนอีกตัวหนึ่งซึ่งพัฒนาโดยคณะนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลแคนาดา ลิขสิทธิ์ของบริษัทนิวลิงก์ เจเนติกส์ ก็มีแผนการจะนำมาทดลองในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย.  ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เจแอนด์เจเคยประกาศว่า จะเริ่มทดลองวัคซีนในมนุษย์ได้ปลายปี 2558-ต้นปี 2559  เป้าหมายระยะยาวของเจแอนด์เจนั้น ต้องการพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันอีโบลาสายพันธุ์ซาเอียร์และซูดาน รวมทั้งอาการที่เกี่ยวข้องกับไวรัสมาร์เบิร์ก แต่จากการแพร่ระบาดของอีโบลาในปัจจุบันบริษัทจึงต้องเร่งโครงการ

"เนื่องจากภาวะเร่งด่วน เราจึงตัดสินใจหันมามุ่งเน้นที่อีโบลาสายพันธุ์ซาเอียร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ในแอฟริกาตะวันตก"  นายพอล สตอฟเฟิล หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ของเจแอนด์เจ กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 5 กันยายน 2557