ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ฝนตกเกือบทุกพื้นที่ของไทย ในบางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง โรคที่ควรเฝ้าระวัง คือ โรคเล็ปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือ "โรคฉี่หนู" เพราะจากข้อมูลการเฝ้าระวังโรค โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 สิงหาคม 2557 พบผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ 1,299 ราย ในพื้นที่ 64 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 10 ราย พบได้ทั้งผู้ที่อยู่ในชนบทและอยู่ในเมือง กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 35-54 ปี รองลงมา คือ 45-54 ปี และ 55-64 ปี ตามลำดับส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สตูล ระนอง ยะลา พังงา และกาฬสินธุ์

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต ประสานการดำเนินงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และ อสม. เพื่อเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค และการดูแลเมื่อมีอาการป่วย เพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ แต่อาจติดเชื้อและป่วยซ้ำได้ ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์ที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยในคนได้ โดยเชื้อจะอยู่ในฉี่ของสัตว์ โดยเฉพาะหนู ทั้งหนูนา หนูป่า หนูบ้าน หนูท่อ รวมทั้งสัตว์อื่นๆ เช่น สุนัข แมว โค แพะ แกะ เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกาย โดยไชเข้าทางผิวหนังตามรอยแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุของตา จมูก ปาก หรือผิวหนังปกติที่แช่น้ำเป็นเวลานาน และอาจติดเชื้อตรงจากการสัมผัสเชื้อและกินอาหาร หรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ โรคนี้แม้ว่ามียารักษาเฉพาะ แต่ถ้ารักษาช้า หรือซื้อยากินเอง อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า โรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบได้ทั่วโลก ขณะนี้พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ถือเป็นโรคประจำถิ่น ผู้ติดเชื้อโรคนี้ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องมีเลือดออกใต้เยื่อบุตาขาว เป็นต้น มีน้อยรายที่จะมีอาการรุนแรง และเสียชีวิต การป้องกันโรคไข้ฉี่หนู มีคำแนะนำ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ เนื่องจากหากมีเชื้อฉี่หนูอยู่ ปริมาณเชื้อจะมีความเข้มข้นมาก และมีโอกาเสี่ยงติดโรคสูง

2. ผู้ที่ต้องทำงานที่เสี่ยงต่อโรค เช่น เก็บเกี่ยวข้าว หรือดำนาในแปลงนา ขอให้สวมถุงมือยาง ใส่รองเท้าบูท ป้องกันการเกิดบาดแผลที่เท้า หรือที่ขา

3. หมั่นล้างมือบ่อยๆ อาบน้ำชำระร่างกาย หลังจากเสร็จภารกิจทำงาน

4. กำจัดขยะในบ้านเรือน ที่ทำงาน ให้สะอาด โดยเฉพาะเศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู

"หากประชาชนมีอาการป่วยดังต่อไปนี้ คือ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่อง ปวดกระบอกตา หลังจากการลุยน้ำขัง ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นโรคฉี่หนู และรีบไปพบแพทย์เพื่อรีบให้การรักษา เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาดได้ อย่าซื้อยากินเอง ซึ่งจากการติดตามประวัติในกลุ่มที่เสียชีวิต พบว่าส่วนใหญ่มักจะซื้อยาไปกินเอง โดยเฉพาะยาแก้ที่มีฤทธิ์แก้ปวดและลดไข้ด้วย เพราะเข้าใจว่าเป็นไข้ทั่วไปที่เกิดจากการทำงานหนัก จึงทำให้อาการรุนแรงขึ้น เชื้อโรคเข้าไปทำลายอวัยวะอื่น เช่น ไต ทำให้ไตวาย เสียชีวิตได้ ประชาชนที่มีความสนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป 0 2590 3177 – 8 สายด่วนกรมควบคุมโรค หมายเลข 1422" นายแพทย์โสภณกล่าว