ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยพบโรคฟันผุในเด็กประถมมากถึงร้อยละ53 เฉพาะภาคใต้พบสูงถึงร้อยละ 70 สาเหตุจากไม่แปรงฟันหลังดื่มน้ำหวานและกินขนมก่อนเข้านอน ในขณะที่การเข้ารับบริการดูแลช่องปากเด็กประถมมีเพียงร้อยละ 30 ซึ่งปัญหาฟันผุ จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ เร่งจัดทำแผนยกเครื่องระบบบริการดูแลให้เป็น 1 ใน 10 สาขาหลักของทุกเขตสุขภาพ ให้ทันตแพทย์เป็นผู้จัดการเรื่องทันตสุขภาพในอำเภอ เน้นงานส่งเสริมและป้องกัน เป็นเครือข่ายบริการตั้งระดับเชี่ยวชาญถึงปฐมภูมิ ตั้งเป้าให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20

นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลัง มอบนโยบายทิศทาง และนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปี 2558 สาขาสุขภาพในช่องปาก ให้แก่ทันตบุคลากรจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกระดับศูนย์อนามัย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั่วประเทศ กว่า 300 คน จัดโดยสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย เพื่อพัฒนาระบบริการด้านทันตสาธารณสุขแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัย สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ที่จัดบริการเป็นแบบเขตสุขภาพ

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้สาขาสุขภาพช่องปาก เป็น 1 ใน 10 สาขาหลัก มอบให้เขตสุขภาพจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพในระดับเขต ในเรื่องสุขภาพในช่องปาก ขณะนี้พบว่าโรคฟันผุ กำลังเป็นปัญหาสำคัญ โดยในเด็กประถมพบฟันผุมากถึงร้อยละ 53 เฉพาะภาคใต้พบสูงถึงร้อยละ 70 สาเหตุ ร้อยละ 50 มาจากการที่ดื่มน้ำหวานและขนมแล้วเข้านอนโดยไม่แปรงฟัน ในขณะที่การเข้ารับบริการดูแลสุขภาพในช่องปากในเด็กประถมมีเพียงร้อยละ30 ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาขาดแคลนและการกระจายบุคลากรในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 2557 มีทันตแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลในสังกัดฯ 5,596 คน มีทันตาภิบาล 6,564 คน

นายแพทย์ณรงค์ กล่าวต่อว่า แผนการจัดการกำลังคนของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2558-2560 จะวิเคราะห์อัตรากำลังที่ควรจะมีในแต่ละเขตบริการ โดยคิดจากค่าภาระงาน มาตรฐานงานกับคนทำงาน และจำนวนประชากรในเขตรับผิดชอบ ปรับรูปแบบทำงานเป็นเครือข่ายจากระดับเชี่ยวชาญจนถึงระดับปฐมภูมิ ใช้กำลังคนเครื่องมือร่วมกัน โดยในสาขาสุขภาพในช่องปาก จะเพิ่มการผลิตทันตาภิบาลอีก 4,000คน ทำงาน ในระดับปฐมภูมิ เน้นการส่งเสริมป้องกันสุขภาพช่องปากที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันฟันผุ ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคอื่นๆที่จะตามมา เช่น โรคติดเชื้อที่หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ปอดบวมในผู้สูงอายุ เป็นต้น ตั้งเป้าให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 เฉพาะเด็กประถมตั้งเป้าเพิ่มให้เป็นร้อยละ 50 โดยจะให้ทันตแพทย์เป็นผู้จัดการเรื่องทันตสุขภาพในอำเภอ

ทางด้านทันตแพทย์สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โรคในช่องปากเป็นปัญหาที่พบมากในประชากรทุกวัย จุดเริ่มต้นสำคัญคือเริ่มจากโรคฟันผุ ตั้งแต่ในกลุ่มเด็ก เยาวชน จนไปสู่ปัญหาการสูญเสียฟันในวัยทำงานและผู้สูงอายุ ต้องใส่ฟันปลอมทดแทน ในปี 2558 กรมอนามัย ได้จัดทำแผนการพัฒนาบริการด้านทันตสาธารณสุข เน้นการส่งเสริม ป้องกันปัญหาโรคในช่องปากประชาชน 4 กลุ่ม คือ1.หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉลี่ยมีฟันผุคนละ 6.6 ซี่ และร้อยละ 90 มีเหงือกอักเสบ โดยจะเร่งสร้างทัศนคติ และทักษะในการดูแลสุขภาพช่องปากเพื่อส่งผลต่อการดูแลลูกในอนาคต 2.กลุ่มเด็กปฐมวัย ซึ่งพบปัญหาฟันผุตั้งแต่อายุ 9 เดือนผุมากขึ้นตามวัย ในเด็กอายุ 3 ขวบ มีฟันผุถึงร้อยละ 57 แสดงถึงการขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ดูแลและผู้ปกครอง โดยเด็กเล็กที่ฟันผุและสูญเสียฟันน้ำนมก่อนกำหนด จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการ ทำให้แคระแกรน เนื่องจากรับประทานอาหารลำบาก เคี้ยวไม่สะดวก ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ 4.กลุ่มวัยเรียนและเยาวชน ซึ่งเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ พบว่าเด็กประถมศึกษาฟันผุร้อยละ 53 ต้องเร่งสร้างเสริมพฤติกรรมดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อป้องกันโรคฟันผุ 4.กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ ปัญหาของวัยทำงานจะพบโรคปริทันต์ เหงือกอักเสบ เลือดออกง่าย ส่วนผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มีปัญหาการสูญเสียฟัน จะเร่งเพิ่มศักยภาพในการดูแลสุขภาพช่องปากป้องกันฟันแท้ผุ และจัดบริการใส่ฟันเทียมให้ผู้สูงอายุ