ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรมทำหนังสือถึง คสช. ท้วงติงร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ กำหนดให้วิชาชีพอื่นจ่ายยาได้นอกเหนือจากแพทย์ เภสัชกร หวั่นหลายวิชาชีพไม่เกี่ยวข้อง ทั้งนักกายภาพบำบัด สัตวแพทย์ เกรงส่งผลต่อประชาชน แถมเปิดช่องโหว่ให้เอกชนทำเงิน

8 ก.ย.57 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้เสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ยา พ.ศ.2510 โดยร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้ามาเสนอข้อคิดเห็นต่อพ.ร.บ.ดังกล่าว แต่สุดท้ายก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะออกมาในรูปแบบใด

โดยทางฝั่ง อย. หยิบยกเสมอว่า การแก้ไขร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีประโยชน์ในแง่การปกป้องผู้บริโภคที่อาจหลงเชื่อกับการโฆษณาเกินจริง อวดอ้างสรรพคุณเกินเหตุ  โดยเสนอปรับเพิ่มโทษจากเดิมหากพบมีการโฆษณายาเกินจริงจะถูกปรับไม่เกิน 100,000 บาท แต่ร่างพ.ร.บ.ฯที่เสนอปรับแก้ใหม่นั้น จะเพิ่มโทษปรับไม่เกิน 10 เท่าแล้วแต่กรณี และจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งเดิมไม่มี โดยเชื่อว่าจะทำให้เกรงกลัวมากขึ้น

แต่ล่าสุดสภาเภสัชกรรมได้ทำหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อท้วงติงการปรับแก้พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2557 เรื่อง ความเห็นแย้งเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ... เพื่อยกเลิก และทดแทนพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 โดยให้เหตุผลว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ยังมีความเห็นแตกต่างอยู่ โดยเฉพาะบทบัญญัติเกี่ยวกับการแบ่งประเภทยา ดังนี้ 

“ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยา” คือ เป็นยาที่ห้ามจ่ายโดยไม่มีใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทย เป็นต้น  

“ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพ” คือ ต้องจ่ายยาโดยผู้ประกอบวิชาชีพที่กำหนดเท่านั้น ไม่ใช่จ่ายตามใบสั่งยาเท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพฯ จะมีทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ เภสัชกรม เป็นต้น

และ “ยาสามัญประจำบ้าน” คือยาสำเร็จรูปที่ประชาชนใช้สำหรับการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น และสามารถซื้อหาได้เองทั่วไป

ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ น

โดย ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ให้เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยว่า การแบ่งเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับหลักสากลว่าด้วยการแบ่งประเภทยา ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง หรือแม้แต่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ต่างแบ่งประเภทยาเป็น 3 กลุ่ม คือ  ยาที่ต้องใช้ใบสั่งยา ยาที่เภสัชกรเป็นผู้สั่งจ่าย และยาที่ประชาชนเลือกใช้ได้เอง  ขณะที่พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 ได้แบ่งเป็นยาควบคุมพิเศษ คือยาที่เภสัชกรจ่ายได้ต่อเมื่อมีใบสั่งแพทย์  ยาอันตราย คือยาที่จ่ายโดยเภสัชกร ยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย คือ ยาที่แพทย์ พยาบาล สามารถสั่งจ่ายได้เอง และยาสามัญประจำบ้านที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

“การกำหนดให้วิชาชีพอื่นๆที่ไม่ใช่เภสัชกร และแพทย์สั่งจ่ายยาได้ โดยยังไม่มีข้อกำหนดว่าต้องขอใบอนุญาตขายยาหรือไม่นั้น ถือว่าเสี่ยงมาก เพราะ อย.จะควบคุมยากขึ้น ที่สำคัญในเรื่องการควบคุมราคายาก็จะยากด้วย เพราะทุกวันนี้ราคายาที่ขายตามร้านขายยา ตามคลินิกก็แตกต่างกันอยู่แล้ว และหากยิ่งเปิดช่องเช่นนี้อีก ประชาชนจะรับผลกระทบแน่นอน ดังนั้น สภาการเภสัชกรรมจึงเห็นว่า ก่อนจะประกาศใช้พ.ร.บ.ใหม่ก็ควรรับฟังความคิดเห็นให้หลากหลาย และแก้ไขให้ได้ข้อคิดเห็นร่วมกันก่อนดีกว่า” ภก.กิตติ กล่าว และว่า  อย่างไรก็ตาม หลังจากร่าง พ.ร.บ.ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วจะส่งกลับมาที่ สธ.ก็คงต้องขอให้มีการพิจารณาทบทวนใหม่ เพราะเห็นว่าจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างวิชาชีพมากขึ้น จึงอยากให้ออกกฎหมายโดยยึดความเคารพใน พ.ร.บ.วิชาชีพของแต่ละวิชาชีพเป็นหลัก เพื่อแบ่งหน้าที่กันทำงานให้ชัดเจน และเป็นระบบตามหลักสากล