ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดลินิวส์ –ภาคประชาชนจัดเสวนา ระบบหลักประกันสุขภาพยุคคสช. ปฏิรูปอย่างไรลดความเหลื่อมล้ำ ชี้พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าใจเรื่องสิทธิหลักประกันสุขภาพ การพูดว่าไทยเป็นรัฐสวัสดิการไม่ได้ รวมถึงให้คนรวยเสียสละเพื่อคนจน ผิดหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และสิทธิหลักประกันสุขภาพที่เป็นของประชาชนทุกคน

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวในการเสวนาเรื่องระบบประกันสุขภาพยุค คสช. ปฏิรูปอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันระบบประกันสุขภาพของไทยมีหลายระดับทั้งข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยระบบของข้าราชการดูแลคนกว่า 5 ล้านคน เมื่อปี 2533 ที่มีการผลักดันระบบประกันสังคมมาใช้เพื่อให้แรงงานทุกคนได้มีหลักประกันสุขภาพ จนกระทั่งมีการปฏิรูปสุขภาพครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 ทำให้มีระบบหลักประกันสุขภาพสามารถดูแลคนกว่า 48 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีมติ ครม.ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในไทยประมาณ 1 ล้านคนต้องซื้อการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพ

"การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.พูดเรื่องการให้คนรวยเสียสละในระบบประกันสุขภาพและให้คนจนได้ใช้ประกันสุขภาพที่ดี รวมทั้งพูดถึงเรื่องไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการไม่ได้ แนวคิดดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในเรื่องสิทธิว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากการต่อสู้กันของคนส่วนใหญ่ในสังคม และหลักการเฉลี่ยนทุกข์เฉลี่ยสุขในระบบ และนี่เป็นหลักประกันสุขภาพที่เป็นสิทธิของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้อยากจะบอกว่าในเมืองไทยมีกลุ่มคนที่ต้องการจะล้มระบบหลักประกันสุขภาพ ไม่ต้องการให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่แสวงหากำไรกันได้อย่างเสรี" น.ส.สุภัทรา กล่าว

ด้านนพ.วชิระ บถวิบูลย์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า หลักประกันสุขภาพเป็นเสมือนสมบัติของประเทศ ตนเป็นห่วงนายกรัฐมนตรีที่เข้ามาบริหารประเทศในระยะเวลาจำกัด รวมถึงเรื่องงบประมาณในระบบประกันสุขภาพที่ยังเป็นข้อจำกัด ซึ่ง สปสช. ก็ต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพที่สุด รวมทั้งต้องบริหารความขัดแย้งของสปสช. กับกระทรวงสาธารณสุขด้วย

ขณะที่น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การบริการสาธารณสุขที่ดีนั้นไม่ว่าคนจนหรือรวยก็ต้องได้รับการบริการที่มีคุณภาพ นโยบายการบริการรักษาฉุกเฉินถือว่าเป็นนโยบายที่ดีมากแต่ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมาก เพราะยังมีข้อบกพร่องในการรักษาพยาบาล ขอเสนอให้โรงพยาบาลเอกชนมีความรับผิดชอบเรื่องการรักษาพยาบาลฉุกเฉินด้วย.

ที่มา : นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ก.ย. 2557 (กรอบบ่าย)