ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.เตรียมชงรมว.สธ.คนใหม่แก้ปัญหารพ.เอกชนเรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ cแนะออกประกาศเพิ่มล้อตามพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน หรือพ.ร.บ.สถานพยาบาล ห้ามรพ.เรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบายนี้ ด้านเครือข่ายผู้เสียหายร้องให้ระงับใช้นโยบายนี้ก่อน และแก้ปัญหาให้เรียบร้อยก่อนใช้ใหม่

9 ก.ย.57 นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลังมีข้อร้องเรียนนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ ว่า นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยมีสปสช.เป็นผู้บริหารจัดการ โดยหลักการ คือ ให้เกิดการบูรณาการสิทธิ 3 กองทุนรักษาพยาบาล คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ในเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 โดยผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลใกล้ที่สุด ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่ช่วยชีวิตคนได้ทันท่วงที แต่ก็ยอมรับว่ายังมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการ จนทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์มาร้องเรียนเพื่อให้แก้ปัญหาดังกล่าว

นพ.วินัย กล่าวว่า ปัญหาคือ โรงพยาบาลบางแห่งมีการเรียกเก็บเงินผู้ป่วย ซึ่งอาจเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสารถึงคำนิยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือเกิดจากปัจจัยใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ได้นิ่งเฉย สปสช.ในฐานะผู้บริหารจัดการได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยจะเสนอให้รัฐบาลใหม่ในการพิจารณาร่วมกันแก้ไขเรื่องนี้ สิ่งสำคัญต้องมีกฎระเบียบในการห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินผู้ป่วย แต่ให้มาเรียกเก็บเงินจากสปสช. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเคลียริ่งเฮ้าส์ (Clearing house) จ่ายเงินให้โรงพยาบาลก่อนจะไปเรียกเก็บกับกองทุนเจ้าของสิทธิผู้ป่วย โดยการจะห้ามการเรียกเก็บเงินนั้นจำเป็นต้องมีประกาศบังคับเพิ่มเติม ซึ่งอาจล้อตามพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 หรืออาจต้องควบคุมค่าใช้จ่ายการรักษากรณีฉุกเฉิน ซึ่งอาจต้องมีการกำหนดราคากลาง

“ทั้งหมดเป็นข้อเสนอในการแก้ปัญหา เบื้องต้นได้เสนอไปยังกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อส่งต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ. ต่อไป” นพ.วินัย กล่าว

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า อยากให้หยุดการเดินหน้านโยบายนี้ชั่วคราวก่อน เพราะสุดท้ายโรงพยาบาลเอกชนก็ยังเรียกเก็บเงิน และสปสช.ก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ แม้นโยบายนี้จะเป็นเรื่องดี แต่ก็ส่งปัญหาให้กับผู้ป่วยกลุ่มหนึ่ง จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.คนใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และช่วยแก้ปัญหาด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สปสช. ถึงการดำเนินการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินในส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการกรณีฉุกเฉินนอกเครือข่ายกองทุนได้บันทึกข้อมูลขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขผ่านโปรแกรม EMCO (Emergency Claim Online) จานวน  246 แห่ง จากจำนวนโรงพยาบาลเอกชนทั้งสิ้น 353 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 69.7 โดยมีสัดส่วนการเข้ารับบริการตามพื้นที่ตั้งของสถานพยาบาลเอกชนในเขต ต่างจังหวัดร้อยละ 53.7 ในกรุงเทพร้อยละ 29.7 และปริมณฑล ร้อยละ 16.6  ซึ่งค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างจากเดือนที่ผ่านมา รวมจำนวนผู้ป่วยที่ส่งเบิกทั้งสิ้น 46,171 ราย ผู้เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในจำนวน 49,287 ครั้ง คิดเป็น ร้อยละ 91 และการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกจำนวน 4,890 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 9 โดยจ่ายชดเชยตามหลักเกณฑ์จานวนทั้งสิ้น 33,132  ราย เป็นเงิน 750,510,770.80 บาท