ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.แนะเลือกซื้อลูกชิ้นปลาไร้สารเรืองแสง สังเกตบรรจุภัณฑ์ต้องปิดสนิท ไม่ฉีกขาด ลักษณะไม่มีเมือกหรือจุดสี มีสีและกลิ่นธรรมชาติ เก็บไว้ในตู้เย็นไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส

9 ก.ย. 57 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีพบสารเรืองแสงในลูกชิ้นปลา ส่วนใหญ่เกิดจากการปนเปื้อนของแบคทีเรีย 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ กลุ่มซูโดโมแนส (Pseudomonas) มักพบบริเวณส่วนเมือกที่ปกคลุมผิวด้านนอกและด้านในทางเดินอาหารของปลา มีทั้งสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายจะเป็นกลุ่ม Pseudomonas aeruginosa มีเอนไซม์สลายเม็ดเลือดแดง ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบปัสสาวะ โลหิตเป็นพิษ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ การติดเชื้อในแผลน้ำร้อนลวก หรือไฟลวก ตาอักเสบ และหนองฝีต่างๆ กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มวิบริโอ (Vibrio) พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และอาหาร มีทั้งชนิดที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตรายเช่นเดียวกัน ซึ่งชนิดที่เป็นอันตรายจะก่อให้เกิดอหิวาตกโรค กระเพาะลำไส้อักเสบ แต่แบคทีเรียชนิดนี้สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน 56 องศาเซลเซียส

การปนเปื้อนของแบคทีเรียอาจเกิดจากกระบวนการผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น การฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อยังไม่หมด หรือปนเปื้อนระหว่างและหลังการผลิต ทั้งจากการบรรจุ อุปกรณ์การผลิต ผู้ผลิต รวมทั้งการขนส่งและระหว่างรอจำหน่ายหากเก็บผลิตภัณฑ์ไว้ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 4 องศาเซลเซียส สามารถทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีแนวทางในการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียต่างๆ โดยบังคับให้สถานที่ผลิตลูกชิ้นต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดีในการผลิตอาหาร ว่าด้วยสุขลักษณะทั่วไป (GMP) หรือคำแนะนำคณะกรรมการสาธารณสุข ฉบับที่ 6/2549 เรื่องการควบคุมการประกอบกิจการการผลิตลูกชิ้นด้วยเครื่องจักร ซึ่งควบคุมตั้งแต่สถานที่ตั้งและอาคารที่ใช้ในการผลิต สุขลักษณะของเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิต การควบคุมกระบวนการผลิต การสุขาภิบาล การบำรุงรักษา การทำความสะอาด สุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งสุ่มตรวจสอบสุขลักษณะของสถานที่ผลิตครอบคลุมตั้งแต่กรรมวิธีการผลิต แหล่งวัตถุดิบที่นำมาใช้ เครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต วิธีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และกระบวนการขนส่ง สุดท้ายตรวจสอบสถานที่จำหน่าย โดยมีการสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นกุ้ง เพื่อตรวจวิเคราะห์หาจุลินทรีย์ที่ทำให้เรืองแสง จุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคอื่น วัตถุเจือปนอาหารที่อาจจะนำมาใช้ในขั้นตอนการผลิต

"ผู้บริโภคควรเลือกซื้อลูกชิ้นปลาจากร้านค้าที่เชื่อถือ มีเครื่องหมาย อย. ระบุวัน เดือน ปีหมดอายุ สะอาด มีการจัดเก็บเป็นอย่างดี บรรจุภัณฑ์ควรปิดสนิท ไม่ฉีกขาด หรือกรอบจนเกินไป ลูกชิ้นปลาไม่มีเมือกหรือจุดสี มีสีและกลิ่นตามธรรมชาติ และหลังจากการซื้อควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ก่อนนำมารับประทานควรนำไปลวกหรือปรุงประกอบด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง และไม่ควรทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องเกิน 2 ชั่วโมง" อธิบดีกรมอนามัยกล่าว