ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอไพบูลย์เผยผลศึกษาวิจัยเขตบริการสุขภาพ สธ. พบการเดินหน้านโยบายนี้มาถูกทาง ในด้านกระจายอำนาจและตัดสินใจ อย่างน้อยในระดับปฏิบัติที่กระจายไปตามเขต เปิดโอกาสทำงานเพื่อตอบสนองประชาชนในพื้นที่ เขตที่ประสบผลสำเร็จเด่นชัด คือ เขต 8 และ 9 ปัจจัยเกิดจากภาวะผู้นำ และความร่วมมือกับเขตของสปสช. แต่ยังเป็นระบบที่มองแค่ใน สธ. ขาดการสร้างความเข้มแข็งโดยการมีส่วนร่วม แถมโครงสร้างยังมีปัญหาธรรมาภิบาล ต่างจาก สปสช. โครงสร้างบริหารเน้นการมีส่วนร่วม 10 ปี ไม่พบทุจริต เสนอออก กม.ตะวันรอน เดินหน้า “เขตสุขภาพ” กันการเมืองเปลี่ยน

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

10 ก.ย.57 ภายหลังจากที่ได้ติดตามและศึกษาวิจัย “เขตบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)” ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ซึ่งจากผลสรุปการศึกษาวิจัยรอบที่ 2 นี้ ได้สนับสนุนการดำเนินงาน “เขตบริการสุขภาพ สธ.” ในแง่มุมของการกระจายอำนาจและการตัดสินใจ พร้อมสะท้อนความเห็นต่อทิศทาง “เขตสุขภาพ” โดยเสนอผู้มีอำนาจในระดับนโยบายออก “กฎหมายตะวันรอน” เพื่อจัดทำเป็นนโยบายเขตสุขภาพระดับประเทศ

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล นักวิชาการศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยติดตามการทำงานเขตสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายเขตบริการสุขภาพของ สธ.มีความถูกต้องแล้ว ในการกระจายอำนาจและการตัดสินใจ อย่างน้อยในระดับปฏิบัติที่กระจายไปตามเขต ทั้งนี้นโยบายเขตสุขภาพยังเปิดโอกาสการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ แต่เมื่อมองลงในรายละเอียดของนโยบายกลับพบว่า ยังเป็นวิธีคิดที่มองลงไปที่ตัวเอง (สธ.) เท่านั้น กลับไม่ได้เป็นไปเพื่อการพัฒนาระบบในพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบจากการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน

ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า แม้ว่าเขตบริการสุขภาพตามนโยบาย สธ. จะจำกัดการดำเนินงานเฉพาะภายใน สธ.เท่านั้น แต่ด้วยแต่ละเขตมีความหลากหลาย มีบริบทพื้นที่ของตัวเอง ส่งผลให้บางเขตเกิดการระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและตอบสนองความต้องการประชาชนได้ ประกอบกับความยืดหยุ่นของนโยบายที่ไม่ตายตัว ทำให้ผู้บริหารเขตปรับการบริหารได้เหมาะสม ส่งผลให้การดำเนินเขตบริการสุขภาพประสบผลสำเร็จได้ ซึ่งนอกจากเขตบริการสุขภาพที่ 8 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีแล้ว เขตบริการสุขภาพที่ 9 เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบผลสำเร็จ

“ความสำเร็จของนโยบายเขตบริการสุขภาพในพื้นที่เขต 8 และ 9 ภาวะผู้นำมีบทบาทมากในความสำเร็จ โดยผู้ตรวจเขต 8 มีภาวะผู้นำที่มีผลต่อการตัดสินใจ ทั้งยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้าง ประกอบกับอยู่ในพื้นที่มานาน จึงมองทะลุและทราบว่าพื้นที่มีหมากตัวใดบ้าง ที่จะใช้เพื่อเดินแต้มต่อได้ ส่วนผู้บริหารเขต 9 ต้องบอกว่าเป็นผลมาจากมรดกจากการจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งแต่ปี 2545 ก่อให้เกิดภาวะผู้นำร่วมในพื้นที่ มีรูปแบบการทำงานร่วมกัน ประกอบกับมี ผอ.สปสช. เขต 9 ที่อยู่ในพื้นที่ยาวนาน มีบุคลิกคล้ายกับผู้นำเขต 8 ส่งผลให้การดำเนินเขตบริการสุขภาพประสบผลสำเร็จเช่นกัน” ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวและว่า ด้วยความสำเร็จเขตบริการสุขภาพ สธ.ที่เกิดจากภาวะผู้นำ ดังนั้นเพื่อให้นโยบายนี้เดินไปได้ จำเป็นต้องมีการพัฒนาตัวผู้นำเพื่อไม่ให้ความสำเร็จจำกัดเพียงแค่เขต 8 และ 9 และต้องมีกระบวนการสรรหาผู้ที่เหมาะสม

ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า แม้ว่าจะมีเขตที่ดำเนินการได้ผลแล้ว แต่ยังไม่ใช้คำตอบสุดท้าย เพราะภาพรวมขณะนี้เขตบริการสุขภาพยังอยู่ในช่วงการทดลองนโยบายอยู่ ยังต้องเรียนรู้และหาคำตอบถึงแนวทางการดำเนินเขตบริการสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมามีการนำเสนอแนวคิดที่หลากหลาย ทั้งการโอนเขตบริการสุขภาพให้กับ อปท. หรือโอนเป็นองค์การมหาชน ขณะที่ สธ.ยังขีดกรอบและมองเฉพาะใน สธ.เอง ดังนั้นจึงควรเดินหน้าทดลองนโยบายต่อไป เพียงแต่ต้องไม่ปิดตายแนวคิดใดแนวคิดหนึ่ง

อย่างไรก็ตามภายใต้ระบบราชการและการเมืองของประเทศที่เชื่อว่ายังคงไม่นิ่งในอีก 5-10 ปี ควรมีการออกกฎหมายฉบับหนึ่ง คือ “กฎหมายตะวันรอน” เพื่อกำหนดทิศทางให้รัฐบาลยังคงมุ่งเป้าไปสู่เขตบริการสุขภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน เน้นการระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน กระจายอำนาจ และการจัดสรรงบประมาณเหมาะสม โดยไม่จำกัดว่าเขตบริการสุขภาพเป็นของใคร พร้อมกันนี้ต้องมีการตั้งหน่วยงานชั่วคราวขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อน เมื่อครบ 5 ปี หลังนโยบายเขตสุขภาพเข้าที่เข้าทางต้องยุบลงและโอนถ่ายภาระกิจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทน ทั้งนี้ที่นำเสนอแนวคิดนี้ เนื่องจากมองว่าเขตสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการร่วมกัน เพราะเป็นเรื่องของสังคมไทย

“นโยบายเขตบริการสุขภาพ สธ. การดำเนินงานจำกัดเพียงแต่ใน สธ. เท่านั้น ใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือ ไม่แสวงหาความร่วมมือ หากไปในทิศทางนี้ นั่นหมายความว่า เราก็ปล่อยประชาชนบางกลุ่มให้เผชิญชะตากรรมกันเองกับโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดคือ พื้นที่ กทม. ที่ปัจจุบันไม่มีใครเข้ามาดำเนินการในภาพรวมการจัดเครือข่ายบริการในพื้นที่นี้”

ส่วนปัญหาธรรมาภิบาลในโครงสร้างเขตบริการสุขภาพ ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า หากพูดในด้านนิยามความโปร่งใส ต้องบอกว่าโครงสร้างนโยบายนี้มีความโปรงใสระดับหนึ่ง เจตนารมณ์นี้มีปรากฎ มีความพยายามให้เขตเปิดเผยความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายของตนเอง แต่ทั้งนี้เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละเขต รวมไปถึงการมีส่วนร่วมที่เป็นไปในเชิงจำกัดแค่ภายใน สธ.

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างการบริหารจัดการของ สปสช. ต้องบอกว่า สปสช.ถูกออกแบบมาให้มีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับนโยบาย ในแง่ความเป็นตัวแทน ที่มีกลุ่มคนหลากหลายนอกวิชาชีพด้านสุขภาพมาเป็นตัวแทน ทำให้เกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบการทำงาน และจากข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่ คือตลอดช่วง 10 ปีของการดำเนินนโยบาย สปสช. ไม่มีหลักฐานชี้ว่ามีการทุจริต นับเป็นข้อดี แต่ทั้งนี้ยังมีข้อจำกัดด้านการถ่วงดุลโครงสร้าง เพราะพบว่าผู้ที่เป็นตัวแทนเข้าไปนั่งในคณะกรรมการ สปสช.ยังไม่มีความสามารถและมีโอกาสพัฒนาให้เทียบเท่านักวิชาชีพที่ร่วมเป็นกรรมการ โดยเฉพาะคณะกรรมการระดับพื้นที่จึงต้องพัฒนาให้เกิดการถ่วงดุลมากขึ้น

ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า จากการดำเนินนโยบายเขตบริการสุขภาพ สธ. เนื่องจากเป็นนโยบายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ในการติดตามศึกษาวิจัยยังคงต้องติดตามต่อเนื่อง เพื่อดูการดำเนินงานและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้ข้อสรุปนโยบายในท้ายที่สุด

หมายเหตุ คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 4 ส.ค.57 ให้คำนิยามของกฎหมายอาทิตย์อัสดงหรือกฎหมายตะวันรอน (Sunset Legislation) ว่า คือกฎหมายที่กำหนดให้หน่วยงานหรือกฎหมายบางอย่างของรัฐถูกยุบไปภายในเวลาที่กำหนด หากปรากฏว่ามูลเหตุที่จะต้องมีหน่วยงานหรือกฎหมายเช่นนั้นหมดไป ทั้งนี้ เพื่อลดอำนาจรัฐอันเป็นต้นทางของคอร์รัปชัน หรืออย่างน้อยๆ ในส่วนของกฎหมายใหม่ที่จะมีการออกต่อไป ก็ควรจะมีกำหนดวันหมดอายุไว้ตั้งแต่ต้น โดยหากถึงวันหมดอายุแล้วรัฐสภาไม่ต่ออายุให้เพราะประเมินแล้วไม่เห็นประโยชน์ที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับต้นทุนที่กฎหมายนั้นสร้างให้กับสังคม ก็ให้กฎหมายนั้นสิ้นผลไป