ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดสธ.เสนอไอเดีย ขอกระทรวงการคลังจัดการพีฟอร์พี เหตุปัญหามากให้หน่วยงานกลางจัดการ เผยหวังให้พีฟอร์พีเป็นขวัญกำลังใจบุคลากรสธ.ทั้งหมด ขณะที่สพศท.รับเห็นด้วย ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระว่างวิชาชีพ จวกกลุ่มค้านอย่าสร้างปัญหา

12 ก.ย.57 นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ในวันที่ 13 กันยายน รัฐมนตรีว่าการ สธ. และรัฐมนตรีช่วยว่าการ  สธ. จะเดินทางเข้ากระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นทางการ โดยผู้บริหาร สธ. และอธิบดีกรมต่างๆ จะนำเสนอนโยบายการดำเนินงาน ซึ่งในส่วนของ สธ.นั้นก็จะมีการการนำเสนอเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะการบริหารจัดการเพื่อขวัญกำลังใจของบุคลากร ซึ่งมีทั้งเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน โดยวิธีการจ้างแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. ข้าราชการ และพนักงานราชการ จะจ้างโดยงบประมาณ 2.พนักงานกระทรวงสาธารณสุข(พกส.) และลูกจ้างชั่วคราว ส่วนนี้ใช้งบประมาณจากเงินบำรุงของโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งทั้งหมดก็จะมีวิชาชีพต่างๆ แบ่งเป็นสายวิชาชีพที่ให้บริการ 25 วิชาชีพ  และสายสนับสนุนต่างๆ ซึ่งทั้งหมดจะขับเคลื่อนประเด็นค่าตอบแทนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรสาธารณสุขทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นค่าตอบแทนตามผลปฎิบัติงาน หรือพีฟอร์พี(Pay for Performance) ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ โดยได้ยืดเวลาไปอีก 30 วันเพื่อร่วมกำหนดเกณฑ์ชี้วัดพีฟอร์พี เพราะบางส่วนก็ยังไม่เห็นด้วย  ซึ่งพีฟอร์พีจะมีข้อบ่งชี้ตามเกณฑ์ต่างๆ หลักๆจะมาจาก 3 ส่วน คือ พีฟอร์พีจากเงินเพิ่มพิเศษของวิชาชีพ พีฟอร์พีจากการเหมาจ่าย ซึ่งดูตามพื้นที่ห่างไกล หรือพีฟอร์พีจากภาระงาน

"นโยบายพีฟอร์พีเกิดขึ้นเพื่อต้องการสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุข เนื่องจากเงินเดือนอาจไม่เพียงพอ ขณะที่เงินเพิ่มพิเศษ ส่วนใหญ่มักจะได้จากการพิจารณาการทำงานพื้นที่ห่างไกล ทำงานในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยน พื้นที่จากถิ่นทุรกันดารก็เปลี่ยนไป ดังนั้น เงินเพิ่มพิเศษในส่วนพีฟอร์พีจึงควรปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม แต่เมื่อเกิดปัญหาบางฝ่ายยังเห็นต่าง แต่ละคนก็เป็นพี่เป็นน้องกัน  ผมเสนอว่าควรเอาเรื่องพีฟอร์พีกลับคืนให้กระทรวงการคลังดูแล และเป็นคนออกเกณฑ์ เพราะกระทรวงการคลังถือเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรง" นพ.วชิระ กล่าว

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะมีการปรับแก้พีฟอร์พีใหม่ แต่การแก้ไขจะต้องมีการหารือกันทุกฝ่ายเพื่อความเป็นธรรม ไม่ใช่พอเปิดให้หารือ แสดงความคิดเห็น บางกลุ่มก็ไม่เข้าร่วม แต่ออกกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านตลอด อย่างไรก็ตาม โดยหลักของพีฟอร์พี ตามที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เคยให้ความเห็นคือ ต้องเป็นค่าตอบแทนตามภาระงานที่นอกเหนือเงินเดือนประจำ โดยต้องเอาผลงานไปแลกจึงจะได้ค่าตอบแทนพีฟอร์พี ซึ่งตามนโยบายของ สธ. ก็สอดคล้องกัน ดังนั้น หากจะปรับแก้ก็ต้องยึดหลักว่า พีฟอร์พีเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ในรายละเอียดก็ต้องมาพิจารณา โดยต้องยึดความเป็นธรรม ไม่ใช่บางวิชาชีพได้รับค่าตอบแทนมาก บางวิชาชีพได้น้อย

"ส่วนที่มีข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบทไม่อยากใช้พีฟอร์พีตามประกาศนโยบายค่าตอบแทนของ สธ. นั้น ต้องถามกลับว่า จะให้ใช้ของชมรมแพทย์ชนบทหรืออย่างไร ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะะข้อเสนอก็ดูจะไม่พูดถึงพีฟอร์พี ไม่พูดถึงภาระงาน แต่ไปเน้นค่าตอบแทนของบางวิชาชีพ แต่วิชาชีพที่มีจำนวนมาก และทำงานหนัก อย่างพยาบาลกลับได้น้อยนิด ซึ่งกลายเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ สร้างปัญหาไม่จบสิ้น  ดังนั้น หากจะมาหารือกันก็ควรยึดหลักลดความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพให้ได้ ไม่ใช่สร้างปัญหาให้วิชาชีพอื่นๆอีก" พญ.ประชุมพร กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยหากปัญหาพีฟอร์พีไม่จบสิ้น ก็ควรให้หน่วยงานกลาง อย่างกระทรวงการคลังมาดูแลแทน เพราะถึงแม้จะมีการเดินขบวนต่อต้าน ก็คงต้องไปทำนอกกระทรวงสาธารณสุข