ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากรายงานพิเศษเรื่อง “พ.ร.บ.ยา ... ล้าหลัง ต้องแก้ !!?” ตอนที่ 1 และ 2 ที่สำนักข่าว Health focus ได้เผยแพร่ไปแล้วนั้น ชัดเจนว่า พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีความล้าหลังไม่ทันสถานการณ์ และมีช่องโหว่มากมายที่จำเป็นต้องปรับปรุง

ทั้งหมดตอบโจทย์ความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไข ... เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและประชาชนชาวไทย

สำหรับ “พ.ร.บ.ยา ... ล้าหลัง ต้องแก้ !!?” ตอนสุดท้ายนี้ สำนักข่าว Health focus มุ่งหวังที่จะฉายภาพความแตกต่างระหว่าง ร่าง พ.ร.บ.ยา 2 ฉบับ

ฉบับแรก เป็นของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อีกหนึ่งฉบับเป็นของภาคประชาชน

สำหรับ “ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับกระทรวงสาธารณสุข” โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เป็นการยกร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาทั้งหมด และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2542 แต่ผลักดันไม่สำเร็จ จึงมีการนำไปปรับปรุงแล้วเสนอใหม่อีกครั้งเมื่อปลายปี 2549 ในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์  

อย่างไรก็ดี ขณะนั้นมีการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.อีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ยาสมุนไพร และร่าง พ.ร.บ.ยาสัตว์ ด้วย จึงให้รวมทุกฉบับเข้ามาอยู่ในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับเดียว เป็นเหตุให้กฎหมายฉบับนี้มีความยาวถึง 241 มาตรา และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว

ล่าสุด มีสัญญาณว่า สธ.และคณะกรรมการกฤษฎีกา จะหยิบยกร่างกฎหมายฉบับนี้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา

ส่วน “ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับประชาชน” นำเสนอโดยมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2550 และในเวลาต่อมามีการปรับปรุง โดยเชื่อมโยงระหว่างส่วนต่างๆ ของกฎหมาย และเขียนเรียงมาตราตามร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... (ฉบับคณะรัฐมนตรีรับหลักการ วันที่ 26 ธ.ค. 2549) และได้ยื่นต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2555

เจตนารมณ์สำคัญ 2 ประการ ของร่างฉบับนี้ก็คือ 1.คุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน 2.ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ทั้งในยามปกติและในภาวะคับขัน เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาและสุขภาพ

สำหรับ “สาระสำคัญ” ของร่างฉบับนี้ ก็คือ “ปรับเปลี่ยนร้านขายยาให้เป็นสถานบริการเภสัชกรรม สถานบริการยาแผนไทย และสถานบริการยาแผนทางเลือก” ที่ให้บริการเกี่ยวกับยาและสุขภาพแก่ประชาชน โดยมีผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย และผู้ประกอบวิชาชีพสาขาอื่นๆ ทำหน้าที่ควบคุมดูแล โดยประชาชนสามารถปรึกษาเรื่องอดบุหรี่ อดเหล้า ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย โภชนาการที่เหมาะสมกับวัย และขอคำแนะนำเรื่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ได้

นอกจากนี้ ยังกำหนดนิยามศัพท์ที่สามารถแยกประเภทยา เพื่อควบคุมดูแลได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการอนุญาต หน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนตำรับยาและการจดแจ้ง กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายยาแห่งชาติ” และ“คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง” อีก 4 คณะ คือ ยาแผนปัจจุบันสำหรับมนุษย์ ยาแผนไทย ยาสำหรับสัตว์ และยาแผนทางเลือก แต่ละคณะมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลตามกฎหมายเกี่ยวกับยาแผนนั้นๆ

ที่สำคัญ กำหนดให้ผู้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ยาที่มีตัวแทนในประเทศไทยสามารถขึ้นทะเบียนตำรับยาได้ แต่ต้องมีการแสดงข้อมูลโครงสร้างราคายา แหล่งที่มาของวัตถุดิบ หลักฐานทางวิชาการ พร้อมกันนี้กำหนดมาตรการคุมเข้มโฆษณาและส่งเสริมการขาย มีกลไกลการเยียวยาผู้เสียหาย และเพิ่มมาตรการลงโทษทางปกครองแก่ผู้กระทำผิด

ความแตกต่างระหว่าง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับกระทรวงฯ กับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชน จำแนกได้เป็น 1.สถานที่รับอนุญาตขายยา ยังคงเป็นสถานประกอบการตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มิใช่สถานบริการเภสัชกรรมชุมชนของผู้ประกอบวิชาชีพตามร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ... (ฉบับประชาชน)

2.ไม่มีบทบัญญัติใดๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมราคายา 3.ไม่มีมาตรการลงโทษทางปกครอง มีเพียงบทกำหนดโทษทางอาญา 4.การแบ่งประเภทยา 5.การควบคุมการส่งเสริมการขายและการโฆษณา

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับกระทรวงฯ จะทำให้ประชาชนได้รับความเสี่ยงด้านสุขภาพ ใน 2 ประเด็น คือ วิชาชีพด้านสาธารณสุขที่ไม่ใช่เภสัชกรมีอำนาจที่จะจ่ายยาอันตรายได้ และสามารถนำยาที่ได้รับอนุญาตมาผสมเพื่อจ่ายให้ผู้ป่วยเป็นกรณีได้

ตามประวัติศาสตร์มีการแก้ไขใหญ่ พ.ร.บ.ยา มาแล้วถึง 3 ครั้ง คือปี 2479 ปี 2493 และ ปี 2510 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้ายและใช้มาจนถึงปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการแก้ไขใหญ่ ครั้งที่ 4 แต่กลับพบว่าสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ยา ทั้ง 2 ฉบับ แตกต่างโดยสิ้นเชิง

คำถามคือ ร่างหลักของ กระทรวงสาธารณสุข คือคำตอบสุดท้ายในการคุ้มครองประชาชน จริงหรือ !!?

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

พ.ร.บ.ยา ... ล้าหลัง ต้องแก้ !!? (1)

พ.ร.บ.ยา ... ล้าหลัง ต้องแก้ !!? (2)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง