ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อนพ.ไพบูลย์ นักวิจัยอุบัติเหตุจราจร ระบุว่า ขอเชียร์นโยบายขนส่งด้วยคน โดยให้เหตุผลสำคัญว่า “ภาระของรพ.ในการดูแลเยียวยาผู้บาดเจ็บปีละกว่าล้านคน ตายอีกกว่าสองหมื่นคนจะลดลงถ้านโยบายดังกล่าวปรากฎเป็นจริง ยิ่งเร็วเท่าใด ยิ่งกว้างขวางเท่าใดภาระดังกล่าวก็ยิ่งลดเร็วและมากตามกันไป 

วงการแพทย์ยกธงขาวมานานแล้วกับชะตากรรมของคน 2 ใน 3 ที่ตายเพราะอุบัติเหตุจราจร จะไม่ให้ยกธงขาวได้อย่างไร ในเมื่อคนเหล่านี้บาดเจ็บรุนแรงที่อวัยวะสำคัญ หลายคนบาดเจ็บรุนแรงมากกว่าหนึ่งอวัยวะสำคัญ ประมาณหนึ่งในสามจึงตายคาที่ ที่เหลือตายเมื่อถึงรพ.หรือระหว่างนำส่งรพ.หรือภายใน 72 ชั่วโมงหลังนอนรพ.เมื่อภาระเยียวยาคนที่สิ้นหวังลดลง ก็แปลว่ามีเงินเหลือไปใช้กับคนที่ยังมีความหวัง”

ขอเชียร์นโยบายขนส่งด้วยคน

ผมรู้สึกชื่นชมและดีใจแทนเพื่อนคนไทย เมื่อได้เห็นประเด็นนโยบายสองประการ ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงเมื่อ 12 ก.ย. 57

ประการแรกคือ นโยบายด้านการขนส่งและคมนาคมทางบก โดยเริ่มโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใน กทม. และรถไฟฟ้าเชื่อม กทม.กับเมืองบริวารเพิ่มเติม เพื่อลดเวลาในการเดินทางของประชาชน เพื่อตั้งฐานให้รัฐบาลต่อไปทำได้ทันที ความหมายสำคัญยิ่งของนโยบายเช่นนี้คือ การเพิ่มสัดส่วนการขนส่งและเดินทางจากถนนซึ่งมีความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนใช้จักรยานยนต์ คนเดินเท้า และจักรยาน  ไปอยู่บนระบบรางซึ่งปลอดภัย ประหยัด คุ้มค่ากว่ามาก และเป็นสัญญลักษณ์ของประเทศพัฒนา

ผมคาดว่า ภาระของรพ.ในการดูแลเยียวยาผู้บาดเจ็บปีละกว่าล้านคน ตายอีกกว่าสองหมื่นคนจะลดลงถ้านโยบายดังกล่าวปรากฎเป็นจริง ยิ่งเร็วเท่าใด ยิ่งกว้างขวางเท่าใดภาระดังกล่าวก็ยิ่งลดเร็วและมากตามกันไป วงการแพทย์ยกธงขาวมานานแล้วกับชะตากรรมของคน 2 ใน 3 ที่ตายเพราะอุบัติเหตุจราจร

จะไม่ให้ยกธงขาวได้อย่างไร ในเมื่อคนเหล่านี้บาดเจ็บรุนแรงที่อวัยวะสำคัญ หลายคนบาดเจ็บรุนแรงมากกว่าหนึ่งอวัยวะสำคัญ ประมาณหนึ่งในสามจึงตายคาที่ ที่เหลือตายเมื่อถึงรพ.หรือระหว่างนำส่งรพ.หรือภายใน 72 ชั่วโมงหลังนอนรพ.

เมื่อภาระเยียวยาคนที่สิ้นหวังลดลง ก็แปลว่ามีเงินเหลือไปใช้กับคนที่ยังมีความหวัง

ประการถัดมา นโยบายปรับโครงสร้างการบริหารจัดการในสาขาขนส่งที่มีการแยกบทบาทและภารกิจของหน่วยงานในระดับนโยบาย หน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยปฏิบัติที่ชัดเจน และจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลระบบราง เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัย โครงสร้างอัตราค่าบริการที่เป็นธรรม การลงทุน การบำรุงรักษาและการบริหารจัดการ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบรางให้เป็นโครงข่ายหลักของประเทศ นโยบายนี้เป็นการวางรากฐานธรรมาภิบาลระบบขนส่งที่คนไทยอย่างผมรอคอยมานาน

เพราะอะไรหรือ

คนส่วนใหญ่คงคุ้นกับคำว่า กระทรวงเกรดเอ  กระทรวงคมนาคมเป็นหนึ่งในข่ายนี้ แปลว่าเป็นกระทรวงที่นักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์มองตาเป็นมันในฐานะเงินถุงเงินถัง ตรงข้ามกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผมเคยได้ยินเมื่อเร็วๆนี้จากผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข พาดพิงคำพูดนักการเมืองว่า “ต้องทำใจนะ มาอยู่กระทรวงนี้ เขาให้กินเจ”

สอดคล้องกับกรณีอดีตรมต.ถูกพิพากษาให้รับโทษจำคุกอยู่หลายปีเพราะคอรัปชั่นกรณี “ทุจริตยาในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ(ตุ้มยำกุ้ง)”

ภาวะ”ต้องกินเจ” ไม่ได้เกิดโดยบังเอิญแต่เป็นผลจาก *กลไกถ่วงดุลอย่างไม่เป็นทางการ* โดยกลุ่มแพทย์ชนบทที่เล่นบทนักเป่านกหวีด น่าเสียดายที่กลไกแบบนี้ไม่แพร่ระบาดไปกระทรวงอื่น ข่าวทุจริตหรือส่อทุจริตจึงเกิดขึ้นในกระทรวงเหล่านั้นเป็นระยะเรื่อยมา

ปกตินักเป่านกหวีดในความหมายนี้มักโดนสอยภายหลังหรือเป็นที่รังเกียจของวงการ ตกงานแล้วก็หางานยาก แต่กลุ่มแพทย์ชนบทมีภูมิคุ้มกันพิเศษ ตามความเชื่อของผมคือ ใช้ข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้เป็นอาวุธ ใช้สื่อมวลชนเป็นช่องทางแพร่ข่าว ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และสุดท้ายความเป็นแพทย์ แปลว่าเป็นทรัพยากรหายาก และสามารถประกอบอาชีพอิสระได้หากถูกปลดออกจากงาน

การสร้างกลไกถ่วงดุลอย่างเป็นทางการตามนโยบายปรับโครงสร้างการบริหารจัดการในสาขาขนส่งดังกล่าว ในสายตาผม นับเป็นความกล้าหาญและหลักแหลมทางการบริหาร เพราะเท่ากับวางกลไกป้องกันโกงอันเป็นการขัดแย้งกับกลุ่มผลประโยชน์ในวงการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายขนส่งคมนาคม อย่างไรก็ตามด้วยผลประโยชน์มหาศาลของวงการนี้ ผมเชื่อว่าจะมีการดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเข้าแทรกแซงครอบงำกลไกทั้งสาม

ในระยะยาว การแยกบทบาทและภารกิจของหน่วยงานในระดับนโยบาย หน่วยงานกำกับดูแล และหน่วยปฏิบัติที่ชัดเจน จะให้หลักประกันป้องกันการโกง เพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน และเพิ่มคุณภาพและความคุ้มค่าของระบบขนส่งคมนาคมโดยรวมได้อย่างยั่งยืน ก็ต่อเมื่อคุณลักษณะหรือเงื่อนไขต่อไปนี้จะได้รับการพัฒนาให้มั่นคงเพื่อหนุนเสริมซึ่งกันและกัน

1.ความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจและดำเนินการของแต่ละหน่วยงานดังกล่าว โดยอาศัยระบบสารสนเทศที่เป็นปัจจุบันและสังคมวงกว้างเข้าถึงได้ง่าย เพื่อสังคมจะได้ร่วมกันตรวจสอบ ท้วงติงได้ทันการณ์อันเป็นการเสริมอำนาจถ่วงดุลของแต่ละหน่วยงานอันเป็นกลไกทางการ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ลองดูตัวอย่างประเทศออสเตรเลีย การวางแผนขยาย/ปรับปรุงโครงข่ายถนนเป็นไปอย่างโปร่งใสโดยอาศัยเว็บไซต์และช่องทางอื่นๆ เพื่อระดมความเห็นคนใช้ถนนทุกประเภท ประกอบกับการให้ข้อมูลผลดำเนินการที่ผ่านมาแก่คนใช้ถนน ก่อนการตัดสินใจขั้นสุดท้าย การอนุมัติหรือต่ออายุสัมปทานการเดินรถเมล์ก็เช่นกันต้องใช้ผลการสำรวจผู้ใช้รถเมล์รายไตรมาสเกี่ยวกับการให้บริการของผู้รับสัมปทานว่าทำตามเงื่อนไขสัมปทาน เช่น การรักษาเวลา  ความปลอดภัย  กริยามารยาท เป็นต้น

2.การสร้างภาวะการแข่งขันอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ หรือผู้รับเหมา เมื่อการแข่งขันเป็นธรรมการวิ่งเต้นย่อมมีความหมายน้อยลงมาก

3.การมีตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์อันหลากหลายโดยเฉพาะผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างกำกับติดตามและอนุมัตินโยบายและแผนของแต่ละหน่วยงาน บทเรียน 10 ปีของสปสชซึ่งมีโครงสร้างลักษณะนี้เป็นตัวอย่างที่ดีว่าสามารถถ่วงดุลอำนาจได้ดีกว่าโครงสร้างที่มีเฉพาะข้าราชการกับฝ่ายการเมือง

สุดท้ายนี้ ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง ผมขอขอบพระคุณและเป็นกำลังใจให้ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลผลักดันนโยบายดังกล่าวได้สมดังเจตนารมย์

ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

หมายเหตุ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน รพ.รามาธิบดี เป็นนักวิจัยที่มีผลงานการวิจัยเกี่ยวกับด้านอุบัติเหตุจราจร ทั้งในเรื่องนโยบาย และยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นโยบายคมนาคมขนส่งเพื่อความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจร