ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขอบคุณภาพจาก เว็บไซต์มติชนออนไลน์

หมายเหตุ - นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ถือฤกษ์สะดวกเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 กันยายน โดยมี นโยบายหลักที่มอบให้แก่หัวหน้าส่วนราชการในสังกัด คือ การปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศทุกด้าน และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำหน้าที่ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายภายในเวลา 1 ปีเศษ จากบรรทัดนี้ คือ บทสัมภาษณ์พิเศษที่ทั้งสองท่านได้เปิดใจกับ "มติชน"

วินาทีแรกที่รู้ว่าจะต้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วย สธ.

นพ.รัชตะ : วันนี้ผมขอพูดเฉพาะเรื่องงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการเท่านั้นนะครับ เป็นโอกาสที่ได้รับใช้ประเทศชาติในภาวะพิเศษ ซึ่งเป็นระยะเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อในการปฏิรูปประเทศ หมายถึงว่า เวลาที่เรามีอยู่ประมาณ 1 ปี เราต้องพยายามใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ และเป็นปัญหาเร่งด่วน ขณะเดียวกันเราต้องวางรากฐานการทำงานต่อเนื่องไปในอนาคตระยะยาว เพื่อให้ประเทศไทยเดินทางเข้าสู่อนาคตที่มั่นคง หลังจากมีกฎกติกาใหม่ ซึ่งโอกาสเช่นนี้คงไม่กลับคืนมา เราจึงต้องใช้โอกาสอย่างมีค่า และจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีเพื่อประเทศอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องดึงพลังจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาช่วยกัน

นพ.สมศักดิ์ : จริงๆ สนใจเรื่องปฏิรูประบบสุขภาพมานาน แต่ในฐานะนักวิชาการ ที่ยึดหลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ การทำงานร่วมกัน ทั้ง 3 ฝ่าย มีสังคม ผู้มีอำนาจ และวิชาการ เดิมผมเล่นบทนักวิชาการ ถึงเวลาถูกชวนให้มาเล่นบทผู้มีอำนาจด้านนโยบาย จึงเกิดคำถามว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ระดับผู้กำหนดนโยบายจะสร้างสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา โดยการสร้างการมีส่วนร่วมทั้ง 3 ฝ่าย จึงเกิดเป็นความท้าทายขึ้น

1 ปีเศษ นับจากนี้นโยบายสุขภาพจะเป็น อย่างไร

นพ.รัชตะ : ภาพรวมด้านสุขภาพ ไม่ได้หมายถึงการรักษาพยาบาลเท่านั้น แต่ต้องให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัย เริ่มตั้งแต่ก่อนปฏิสนธิ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้ว ทั้งทารกและมารดาต้องได้รับการดูแลสร้างเสริมสุขภาพอย่างเต็มที่ ไปจนถึงเด็กปฐมวัย หรือเด็กก่อนวัยเรียนจำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัยแห่งการพัฒนาการ ซึ่งขณะนี้มีศูนย์เด็กปฐมวัยเกือบหมื่นแห่ง ที่อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตรงนี้ สธ.ก็ต้องบูรณาการ ยังมีกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งมีปัญหาตั้งครรภ์สูงมากปีละกว่าแสนราย และมีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นซ้ำอีก ขณะที่เด็กที่เกิดมาจากพ่อแม่วัยรุ่นก็มีปัญหา จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า พ่อแม่วัยรุ่นที่ไม่พร้อมดูแล จะให้ปู่ย่าตายายที่อายุมากเลี้ยงดูแทน เด็กกลุ่มนี้จึงเสี่ยงมีปัญหาพัฒนาการช้า ปัญหาความรุนแรง ยาเสพติด และเรื่องเพศ ขณะที่ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ จะต้องให้ความรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงบุหรี่ สุรา และหันมาออกกำลังกายมากขึ้นรวมทั้งผู้สูงอายุ ต้องมาดูเรื่องการรักษาพยาบาล และสวัสดิการ โดยจะเน้นการเยี่ยมถึงบ้าน ผ่านอาสาสมัคร ซึ่งต้องสร้างระบบนี้ขึ้น ส่วนผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต ปัจจุบันโรงพยาบาลรองรับเท่าไรก็ไม่พอ ก็ต้องสร้างระบบขึ้นมาว่าจะทำอย่างไรหากพวกเขาเสียชีวิตที่บ้านอย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ทุกข์ทรมาน แม้จะมีการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคในทุกช่วงวัย แต่เมื่อมีผู้เจ็บป่วยก็ต้องดูแลอย่างดีที่สุด โดยจะต้องมีสถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ ไม่ต้องเดินทางไกล และจะเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนให้สามารถผ่าตัดโรคไม่ยาก เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง หรือทำคลอด แต่โรคบางอย่างที่จำเป็นต้องส่งต่อก็ต้องไปสร้างความเข้มแข็งโรงพยาบาลทุติยภูมิ คือโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป

นพ.สมศักดิ์ : สิ่งสำคัญต้องสร้างระบบให้ยั่งยืน อย่างเช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผมเชื่อว่าระบบประกันสุขภาพของไทยมาถูกทางแล้ว และต้องช่วยกันทำให้ถูกจุด อย่าทำให้ผิดจุด นอกจากนี้ในเรื่องระบบปฐมภูมิหรือการบริการสุขภาพระดับต้น เช่น ในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล ก็ต้องเข็มแข็ง ประชาชนต้องได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ เหมือนที่ผ่านมามีการพัฒนาสถานพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งระบบสุขภาพที่ดีต้องพัฒนาภาพรวม ไม่ใช่แค่การบริการใกล้บ้านใกล้ใจ แต่ระบบส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใหญ่ๆ ก็ต้องมีการพัฒนา จัดระบบให้เข้าที่เข้าทาง

แสดงว่าที่ผ่านมาการพัฒนาระบบสุขภาพยังไม่เข้าที่เข้าทาง

นพ.รัชตะ : ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาระบบที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น แม้ไทยจะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ก็สามารถจัดระบบบริการสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชนได้เกือบ 100% สิ่งสำคัญต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดูแลคุณภาพ สิทธิประโยชน์ของประชาชนดีขึ้น การเข้าถึงบริการ ความปลอดภัยในการรักษาพยาบาล และสิ่งที่อยากเน้นในอนาคต คือ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย จะต้องมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

นพ.สมศักดิ์ : คำว่า "เข้าที่เข้าทาง" แปลว่า ต้องช่วยกันทำงานอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงร่วมกัน ซึ่งไม่มีใครรู้คำตอบสุดท้าย เรารู้ว่าเราจะไปไหน แต่กระบวนการที่จะไปถึงเป้าหมาย จะต้องร่วมกันทำงานเพื่อไปถึงจุดมุ่งหมายให้ได้ อย่าวอกแวก ต้องมารวมพลังกันทำงาน

จะทำงานอย่างไรกับบุคลากร สธ.ที่มีความคิดเห็นต่าง และมองว่า ทั้ง 2 ท่านยังใหม่กับตำแหน่งนี้

นพ.รัชตะ : เรื่องความขัดแย้งเชิงความคิด เป็นเรื่องธรรมดามากในสังคม แต่เราต้องบริหารความขัดแย้งโดยสันติ ซึ่งการจะทำได้ต้องยึดหลักธรรมาภิบาลทุกองค์ประกอบ ทั้งกฎระเบียบ คุณธรรม การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ความรับผิดชอบ ความคุ้มค่า แค่นั้นยังไม่พอ ทั้งหมดการจะแก้ปัญหาต่างๆ ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วย ไม่ใช่ใช้แต่ความรู้สึก โดยต้องมีงานวิจัยมาประกอบ ที่สำคัญจะสร้างวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่แค่ภายในกระทรวงสาธารณสุข แต่รวมทั้งกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานบูรณการมากขึ้น ส่วนที่มองว่าอยู่ในสายมหาวิทยาลัยจะทำงานร่วมกันได้หรือไม่นั้น ผมในฐานะนักวิชาการได้ทำงานด้านสุขภาพร่วมกับ สธ.มานาน ตั้งแต่ 25 ปีก่อน เข้ามาช่วยในฐานะที่ปรึกษาทางวิชาการ รณรงค์แก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีน ซึ่งทำมาจนปัจจุบัน โรคนี้ก็ยังไม่ถูกกำจัดจนหมดในประเทศ แต่จะต้องทำให้หมดให้ได้ เพราะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความพิการตั้งแต่มากไปหาน้อย ซึ่งเราหาทางป้องกันได้ ที่ผ่านมาก็เคยเดินทางไปยังโรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัยต่างๆ ได้เรียนรู้ระบบสุขภาพเช่นกัน ในเชิงการศึกษานั้น มหาวิทยาลัยมหิดล ยังร่วมกับ สธ. ผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โดยเราใช้โรงพยาบาลของ สธ. ฝึกแพทย์ในชั้นคลินิก เรียนรู้จากผู้ป่วย ส่วนเรื่องการเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานจะเรียนที่มหาวิทยาลัย ส่วนการฝึกอบรมครู การช่วยดูในเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนก็จะร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยและ สธ. เป็นต้น

นพ.สมศักดิ์ : ในเรื่องการทำงาน ถามตัวเองว่า จะทำตัวอย่างไร และจะทำอย่างไรให้งานสำเร็จ ซึ่งผมยึดเสมอว่า "หากเราทำตัวดี เราก็ดี" คือ 1.ไม่หลงในอำนาจ 2.ไม่ไขว้เขวถูกผิด 3.เชื่อปรัชญาสามเหลี่ยม (เขยื้อนภูเขา) แปลว่าสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และสุดท้าย 4.ใช้พลังการสื่อสาร ซึ่งผมไม่รู้หรอกว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่หากยึดหลักการนี้ก็เชื่อว่าจะทำงานผ่านพ้นไปได้

ช่วยบอกข้อดีของการทำงานควบ 2 ตำแหน่งในเวลาเดียวกัน

นพ.รัชตะ : จากการที่ผมอยู่ในมหาวิทยาลัยและได้ทำงานร่วมกับ สธ.มาตลอด ย่อมทำให้สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ เพราะพลังของมหาวิทยาลัยเข้ากับพลังของระบบสุขภาพได้ในหลายมิติ ทั้งการฝึกอบรมบุคลากร ระบบสุขภาพต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัย แต่ยังมีภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ให้ความสำคัญมาก ว่า งบประมาณต่างๆ ทำเรื่องเดียวกันแต่กระจายไปกระทรวงต่างๆ มากมาย โดยไม่รู้ว่าทำอะไรกันบ้าง จึงควรมีการบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้มีการใช้เม็ดเงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีอีกหลายเรื่องที่เราต้องช่วยกันเดินหน้าไป พยายามปรับปรุงพัฒนากระบวนการการทำงานให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ สิ่งหนึ่งที่ผมพยายามบอกบุคลากรใน สธ.คือ ผมอยากทำให้ สธ.เป็นต้นแบบของกระทรวงที่ปลอดการคอร์รัปชั่น คือ ระบบคอร์รัปชั่นต้องหมดไป ท่านนายกฯได้ให้นโยบายว่าทุกยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ต้องใส่เรื่องการรณรงค์หยุดคอร์รัปชั่นลงไปด้วย ถ้าเรารณรงค์เรื่องนี้ไม่ได้ เราจะพัฒนาประเทศต่อไปไม่ได้ เราจะมีแต่ความหวาดระแวง เราจะไม่ได้ในสิ่งที่เราควรได้รับ ฉะนั้น ผมจึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ขอให้นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

นพ.สมศักดิ์ : เราต้องสร้างความร่วมมือระหว่าง สธ.กับทุกมหาวิทยาลัย เราต้องการผลระยะสั้นเพื่อวางรากฐานในระยะยาว ตอนนี้ถึงเวลารวมพลังครับ

ทั้ง นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ ยืนยันตรงกันว่าไม่รู้สึกหนักใจกับตำแหน่งทางการเมืองที่ได้รับ เพราะ "ไม่ตั้งใจจะอยู่ยาว" แต่ที่รับตำแหน่งนี้เพราะ "มีความตั้งใจทำงาน" ส่วนผลลัพธ์เป็นเช่นไรต้องติดตาม...

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 15 กันยายน 2557