ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภากาชาดไทย จับมือ อย. อภ. สปสช. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลงนามสนับสนุนจัดตั้งศูนย์ผลิตภัณฑ์จากพลาสมา เพื่อใช้ในการผลิตยาแฟคเตอร์ 8 รักษาฮีโมฟีเลีย และ ยาไอวีไอจี ซึ่งเป็นยา จ (2) มีราคาแพง สำหรับรักษาโรคคาวาซากิ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เผยความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและลดการพึ่งพายานำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากสามารถผลิตได้เอง เพิ่มความมั่นคงทางยาให้ไทย ทั้งควบคุมค่าใช้จ่ายสุขภาพได้ด้วย

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ณ ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย มีพิธีลงนามความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา ระหว่าง นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และนพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.)

ทั้งนี้การลงนามความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือสนับสนุน และพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของโรงงานและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล และได้รับการรับรองตามกำหนดเวลา พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมุ่งเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียน สนับสนุนการจัดการด้านการกระจายผลิตภัณฑ์จากพลาสมาไปสู่ผู้ป่วยอย่างบูรณาการและเป็นไปตามหลักการสากล

ด้าน เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากการที่สภากาชาดไทย โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา ณ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อผลิต แฟคเตอร์ 8 (Factor VIII concentrate) สำหรับรักษาโรคฮีโมฟีเลีย, โปรตีนแอลบูมิน (Albumin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีมากในเลือด ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีการรั่วของอัลบูมินผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยไต ผู้ป่วยมะเร็ง และ IVIG ซึ่งเป็นยาราคาแพงที่มีการใช้หลายข้อบ่งใช้ โดยทั้ง 3 อย่างนั้น ก็เพื่อสำหรับการรักษาผู้ป่วยในประเทศ ซึ่งการจัดตั้งและดำเนินการของศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาแห่งนี้ เป็นความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานข้างต้น ในการสนับสนุนการดำเนินงาน

นพ.วินัย กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือตามข้อตกลงฉบับนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจของโครงการจัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาให้สัมฤทธิ์ผล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาที่มีมาตรฐานสากล มีกำลังการผลิตเพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากประเทศไทยจะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ประเภท Life-saving drug หรือยาช่วยชีวิต เช่น แฟคเตอร์ 8 , โปรตีนอัลบูมิน และ IVIG ได้ด้วยตนเอง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและลดการพึ่งพายานำเข้าจากต่างประเทศ

นพ.วินัย กล่าวว่า ในส่วนของสปสช.นั้น มีภารกิจที่สำคัญคือการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาและยาจำเป็นต่างๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์จากพลาสมานี้ จะนำไปสู่การผลิต แฟคเตอร์ 8 สำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดออกง่าย ซึ่งในแต่ละปีนั้น มีการใช้แฟคเตอร์ 8 ในระบบหลักประกันสุขภาพประมาณ 10 ล้านยูนิต ในปี 2556 ใช้แฟคเตอร์ 8 ประมาณ 12 ล้านยูนิต ขณะที่ปี 2555 และปี 2554 ใช้ประมาณ 11 ล้านยูนิต และ 10 ล้านยูนิต ซึ่งจะเห็นว่ามีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยสปสช.กำหนดงบประมาณในการจัดซื้อแฟคเตอร์ 8 ขนาด 250 iu ที่ 3,000 บาท และขนาด 500 iu ที่ 6,000 บาท

นอกจากนั้น การตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา จะนำไปสู่การผลิตยา IVIG ซึ่งเป็นยาในบัญชี จ (2) ที่สปสช.ดำเนินการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา เนื่องจากเป็นยาจำเป็นแต่มีราคาแพง จึงต้องมีกระบวนการจัดการ โดยยา IVIG นั้น มีหลายข้อบ่งใช้ ตั้งแต่การรักษาโรคคาวาซากิระยะเฉียบพลัน รักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องปฐมภูมิ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้ายระยะวิกฤติ เป็นต้น โดยในการจัดหานั้น สปสช.มีการจัดซื้อรวมเพื่อให้ได้ยาราคาถูกลง

“ดังนั้นการที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยสร้างโรงงานสำหรับผลิตแฟคเตอร์ 8 และยา IVIG ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา จะทำให้เกิดความมั่นคงทางยาแก่ประเทศ ทำให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพมีความมั่นคงและควบคุมค่าใช้จ่ายโดยไม่ให้เป็นภาระการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว” เลขาธิการสปสช.กล่าว