ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพเข้าพบปธ.บอร์ดองค์การเภสัช เร่งสางปัญหาภายในอภ. แก้ปัญหาผลิตยาให้เร็วสุด จี้ปลด "หมอสุวัช" ออกจาก ผอ.อภ. ด้านประธานบอร์ด อภ.สั่งตั้งคณะกรรมการสอบแล้ว ขณะที่ ผอ.อภ.แจงผลประกอบการไม่ต่างปี 56 แม้ปิดสายการผลิต 3 เดือน 

17 ก.ย. 57 ที่องค์การเภสัชกรรม(อภ.) 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท ชมรมเภสัชชนบท กลุ่มศึกษาปัญหายา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท ได้เข้าพบ พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ตามคำเชิญ เพื่อเสนอข้อกังวลในการทำงานของ อภ. และปัญหาเร่งด่วนที่บอร์ด อภ.ควรแก้ไข ทั้งโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ โรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โรงงานยาที่รังสิต และยาต้านไวรัสเอชไอวีขาดแคลน เป็นต้น

พล.ท.ศุภกร กล่าวภายหลังหารือว่า ได้รับทราบปัญหาแล้ว เรื่องขาดแคลนยาเอชไอวี ได้ปรึกษา ภญ.กฤษณา ไกรสินธุ์ กรรมการบอร์ด อภ. แล้วเห็นว่า ควรแก้ปัญหาด้วยการเร่งผลิตยาจำเป็นก่อน โดยใช้โรงงานที่พระราม 6 ส่วนโรงงานผลิตยาที่รังสิต ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องกฎหมายแล้ว ก็จะพยายามเร่งให้เปิดโรงงานได้ภายในต้นปี 2558 ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องการทำงานของ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. บริหารงานไม่มีประสิทธิภาพนั้น ได้ให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ เพื่อหาทางแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกกรรมการ โดยใช้จะเป็นบุคคลที่อยู่ในบอร์ด อภ.อยู่แล้ว โดยยืนยันว่าจากนี้ จะมุ่งผลิตยาที่มีคุณภาพและเรียกความมั่นใจกลับคืนมา

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า จากการบริหารงานที่ผิดพลาดของผู้บริหาร อภ.ในช่วงที่ผ่านมาทำให้การสั่งซื้อวัตถุดิบ การสั่งผลิตและจัดหายาวิกฤตอย่างหนัก รวมถึงการก่อสร้างโรงงานรังสิตที่ล่าช้า ทำให้ตอนนี้ผู้ติดเชื้อในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก

“จากเดิมรพ.สามารถจ่ายยาให้ครั้งละ 2-3 เดือน ปัจจุบันหลายรพ.ต้องจ่ายยาเป็นรายสัปดาห์ บางแห่งสั่งจ่ายโดยการลดจำนวนลงครึ่งหนึ่ง เช่นจาก 1 เดือนได้ 15 วัน หลาย รพ. ต้องให้คนไข้ไปรับยาเพิ่มที่สภากาชาด สูตร kaletra, AZT,3TC ที่ให้ในผู้ที่ตั้งครรภ์ บางแห่งนัดรับยาแต่พอผู้ป่วยไปรับยาพบว่าไม่มียาให้ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้รับยาเมื่อไหร่ ซึ่งการขาดยาต้านไวรัสมีความหมายถึงชีวิตของผู้ติดเชื้อ เราจึงอยากทราบนโยบายของประธานบอร์ดว่ามีทางออกหรือไม่อย่างไร การเปิดใช้งานโรงงานผลิตยารังสิตเพื่อรองรับการขาดแคลนเวชภัณฑ์อันเนื่องมาจากการปิดปรับปรุงพัฒนาโรงงานผลิตยาพระรามหกมีความคืบหน้าอย่างไร จะใช้ระยะเวลายาวนานเท่าไร เพราะความล่าช้าอีกเดือนครึ่งเดือนหมายถึงความตายของคนจำนวนมาก และเราเสนอให้บอร์ดสอบสวนหาสาเหตุ เพื่อหาผู้กระทำผิดและนำไปสู่การพัฒนา อภ.”

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี จากมูลนิธิสาธารณสุชกับการพัฒนา ระบุเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงเฉพาะยาต้านไวรัสแต่ยังรวมถึงยาโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ดูเหมือนผู้บริหาร อภ.ไม่ตระหนักถึงพันธกิจของ อภ.ที่มีต่อสังคม ทั้งไม่มีการวางแผน ลดผลิตยาที่ตัวเองถือครองตลาดไว้มาก และลดหรือเลิกผลิตยาที่ทำกำไรน้อย เกิดปัญหาการจัดหายาของสถานพยาบาล และอาจก่ออันตรายแก่ผู้ใช้ยาด้วย

“เราจึงต้องการทราบวิสัยทัศน์ของประธานบอร์ดและบอร์ดชุดใหม่ว่าจะสามารถทำพันธกิจของ อภ.ได้อย่างไรบ้าง เพราะภารกิจรัฐวิสาหกิจด้านยา ไม่ใช่มุ่งแสวงหากำไร แต่ต้องช่วยสังคม ดังนั้น นอกจากเรื่องการผลิตจัดการยาแล้ว ยังต้องรวมถึงการเร่งโรงงานวัคซีน และการมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองความมั่นคงด้านยาของประเทศไทย”

นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ได้เข้าหารือกับประธานบอร์ด อภ.เพื่อขอความเป็นธรรม และขอให้แก้ปัญหายาต้านไวรัสเอชไอวีขาดแคลน ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยจำนวนมาก ล่าสุด ได้รับแจ้งจากเครือข่ายผู้ป่วยเอดส์ในจังหวัดต่างๆ อาทิ ศรีสะเกษ ยโสธร สุพรรณบุรี ตราด ชลบุรี เชียงราย และ กทม. คือ รพ.ลาดกระบัง พบว่า โรงพยาบาลต่างๆ มีการจ่ายยาเอฟฟาไวเรนซ์ ซึ่งเป็นสูตรยาต้านไวรัสเอชไอวีพื้นฐาน จากเดิมจ่ายให้แก่ผู้ป่วยล่วงหน้า 3 เดือน ปัจจุบันลดเหลือเพียง 7-15 วันเท่านั้น อย่าง ยโสธร ได้รับแจ้งว่า หลายโรงพยาบาลเรียกผู้ป่วยมารวมตัวกัน และนำยาต้านไวรัสมากองเพื่อปรับเกลี่ยให้ผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ผู้ป่วยขาดยา ซึ่งยาเอฟฟาไวเรนซ์นั้นสามารถขาดยาได้ 2-3 วันเท่านั้น หากหลังจากนี้จะดื้อยาต้องไปใช้ยาอีกตัวที่มีราคาแพงกว่าหลายเท่า ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่ปัญหานี้เท่านั้น ยังมีปัญหายาตัวอื่นที่เกิดจากการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพของ ผอ.อภ.ด้วย จึงเรียกร้องให้ประธานบอร์ด ปลด นพ.สุวัช ออกจากตำแหน่ง ผอ.อภ.
       
นพ.สุวัช กล่าวว่า ข้อกังวลของกลุ่ม 8 เครือข่ายฯ ได้พยายามชี้แจงมาหลายครั้งแล้ว และได้ชี้แจงต่อประธานบอร์ด อภ.คนใหม่แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ หากจะบอกว่าตนทำงานไม่มีประสิทธิภาพ คงต้องถามว่าเกิดจากอะไร เพราะเมื่อดูจากผลประกอบการในช่วง 3 เดือนแรกที่ตนเข้ามารับตำแหน่งนั้น ยอมรับว่าไม่มีผลกำไร เนื่องจากประสบปัญหายาคละปน ทำให้ต้องปิดสายการผลิตเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อปรับปรุง แต่หลังจากนี้ก็กลับมาผลิตได้ตามปกติ ซึ่งผลการประกอบการใน 10 เดือนของปี 2557 อยู่ที่ 10.839 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2556 อยู่ที่ 10,889 ล้านบาท และยังพบว่าการเดินเครื่องจักรในการผลิตในบางช่วงอัตราการผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึงเท่าตัว
       
“ยอมรับว่าหลังจากรับตำแหน่งซึ่งเกิดปัญหายาคละปนกันจนต้องหยุดการผลิตถึง 3 เดือนนั้น ทำให้ อภ.ขาดทุน แต่ก็พยายามปรับแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพมาโดยตลอด จนสามารถมีผลดำเนินการใกล้เคียงปีก่อน หากจะให้ถูกใจทุกคนคงไม่สามารถทำได้ ซึ่งที่ผ่านมาพยายามแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็นการส่งยาล่าช้าที่สามารถปรับปรุงและแก้ไขได้ เหลือยาค้างส่งจำนวนไม่มากและมีเวชภัณฑ์เพียงพออย่างแน่นอน หรือปัญหาการก่อสร้างโรงงานวัคซีน โรงงานผลิตยา ก็มีรายละเอียดมากและปัญหาดำเนินมาตั้งแต่ก่อนผมเข้ามารับตำแหน่ง แต่ก็พยายามแก้ไข และมีความคืบหน้ามาโดยตลอด ส่วนตัวไม่หนักใจอะไรเมื่อเข้ามาทำงานแล้วก็พยายามจะทำให้ดีที่สุด” ผอ.อภ. กล่าว