ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขอบคุณภาพจาก www.internations.org

โดย สตีเฟ่น ดักเคทท์  

ผู้อำนวยการโครงการด้านสุขภาพ, สถาบันกราททัน (Grattan Institute) ออสเตรเลีย

เว็บไซต์เดอะคอนเวอร์เซชั่น : ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การอภิปรายนโยบายด้านสุขภาพถูกจัดขึ้นหลายครั้งในประเทศออสเตรเลีย เพื่อถกเถียงกันเรื่อง “เงินร่วมจ่าย 7 ดอลล่าร์” ราวกับว่าการใช้ระบบร่วมจ่ายค่ารักษาจะสามารถสะสางทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบบริการสุขภาพลงได้

แน่นอนว่า การให้ประชาชนมีส่วนร่วมจ่ายค่าตรวจรักษาครั้งละ 7 ดอลล่าร์ ย่อมไม่ใช่นโยบายด้านงบประมาณเพียงเรื่องเดียวที่ทางรัฐบาลจะริเริ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่ายังมีกรอบแนวคิดอีกหลายข้อที่รัฐบาลจะผลักภาระค่าใช้จ่ายไปยังผู้บริโภค ทั้งการเพิ่มสัดส่วนร่วมจ่ายในชุดสิทธิประโยชน์ด้านยา หรือดำเนินงานในระดับรัฐโดยปรับลดเงินอุดหนุนเครือจักรภพลง   อย่างไรก็ตาม การผลักภาระค่าใช้จ่ายไปยังผู้บริโภคจะนำมาซึ่งกระแสต่อต้านที่รุนแรง และมีแนวโน้มว่าแนวคิดดังกล่าวอาจไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา 

จริงๆ แล้วการจัดการระบบสุขภาพยังมีทางเลือกที่น่าสนใจอีกหลายรูปแบบ และนี่คือ 7 เคล็ดลับซึ่งผู้กำหนดนโยบายสามารถปฏิบัติตามเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพให้ดีขึ้น

1.อย่าตื่นตูม

การเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพนั้นเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไปเป็นสังคมผู้สูงอายุก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ประชากรทุกคนต่างมีอายุเพิ่มขึ้นทีละวัน ทุกวันๆ ฉะนั้นผลกระทบจากทฤษฎีการสูงอายุนี้จึงได้รับการเรียกขานว่าเป็นเหมือน “ธารน้ำแข็งสีเทา” มากกว่า “สึนามิเงิน”  

การพัฒนาบนพื้นฐานของความตื่นตระหนก ส่วนใหญ่นำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ผิด วิธีการที่รวดเร็วฉับไวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หมดทุกเรื่อง แน่นอนว่าการผลักภาระค่าใช้จ่ายนั้นง่ายกว่าการแก้ไขโครงสร้างทั้งระบบ แต่น่าเสียดายที่แนวคิดนี้คงจบปัญหาไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีผู้สนับสนุนให้นำมาใช้แล้วหลายครั้ง         

2.สร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

สิ่งจูงใจที่เป็นตัวเงิน นับว่ามีประสิทธิภาพอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ให้บริการด้านสุขภาพ การจัดสรรงบประมาณและจ่ายค่าตอบแทนตามผลการดำเนินงาน คือแนวคิดที่โดดเด่นและสามารถทำให้ระบบการบริหารจัดการในโรงพยาบาลของรัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แทนที่จะจัดสรรงบประมาณตามที่โรงพยาบาลร้องขอหรือจัดสรรให้เท่ากับที่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลควรพิจารณาจ่ายตามผลการปฏิบัติงานและกิจกรรมที่ทำจริง

การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน จะสร้างแรงจูงใจให้โรงพยาบาลของรัฐหันมาพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน และหนึ่งในผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะเริ่มมองเห็นปัญหาในการปฏิบัติงานของตัวเอง  แทนที่จะโยนความรับผิดชอบกลับไปให้รัฐบาลและประชาชนผู้เสียภาษี  

3.อย่าลดความเสมอภาค

การเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้บริโภคอาจส่งผลกระทบในทางตรงกันข้ามและลดความเสมอภาคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้การอภิปรายส่วนใหญ่มุ่งประเด็นไปที่ “เงินร่วมจ่าย 7 ดอลล่าร์” เพราะเราต่างทราบกันดีว่า การมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีฐานะยากจนมากกว่า เพราะสัดส่วนรายได้ที่จะต้องตัดมาเป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั้นจะมากขึ้น

แนวคิดของการร่วมจ่ายค่ารักษา อาจเพิ่มต้นทุนให้แก่ระบบบริการสุขภาพได้ เพราะหากผู้บริโภคชะลอการไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ผู้บริโภคบางรายอาจต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่แพงยิ่งขึ้นในภายหลัง

4.ใช้พิสัยของเครื่องมือทางนโยบาย

การกำหนดนโยบายสาธารณะ คือการใช้เครื่องมือทางนโยบาย (Policy instruments) มาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชน ผู้ประกอบวิชาชีพ ชุมชน และ องค์กรที่เกี่ยวข้อง 

เครื่องมือทางนโยบายแบบ “จากบนลงล่าง" รวมถึงการบัญญัติบริการรูปแบบใหม่ๆ ได้แก่ ด้านการเงิน (ภาษี, ค่าตอบแทน, ตั้งค่าการตลาด) ด้านข้อกำหนด ด้านกฏหมาย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างและเป้าหมายของระบบ การจัดหาข้อมูล การใช้วาทศิลป์ และการเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม (ทำแบบบูรณาการผ่านระบบการศึกษา)

ส่วนเครื่องมือทางนโยบาย แบบ "จากล่างขึ้นบน"  มุ่งเน้นไปที่ผู้บริโภค ทั้งการเสริมสร้างศักยภาพ การมีส่วนร่วมและให้ทางเลือกในการตัดสินใจ

รัฐบาลสหพันธรัฐชุดที่แล้วของออสเตรเลียเลือกที่จะเล่นกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร สร้างสรรค์เอกสารโครงการด้านสุขภาพที่สวยหรู และได้รับงบประมาณจากเอกสารเหล่านั้น ในทางตรงกันข้าม นายรัดด์ – นางจิลลาร์ด ได้พัฒนาแรงจูงใจด้านการเงินไปพร้อมๆ กับนำเสนอแนวคิดในการจัดสรรงบประมาณให้แก่โรงพยาบาลตามผลการปฏิบัติงานเพื่อผลักดันให้การบริการมีประสิทธิภาพ  แต่การจัดสรรงบประมาณในรูปแบบดังกล่าวนี้ จะถูกยกเลิกตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นไป  และออสเตรเลียกลับไปใช้การจัดสรรงบประมาณในรูปแบบเดิมคือ จัดสรรตามจำนวนประชากรและการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ไม่ใช่พิจารณาตามผลงานของโรงพยาบาลอีกต่อไป   

การเปลี่ยนแปลงจะมีประสิทธิภาพ หากกระบวนการทางนโยบายเต็มรูปแบบได้ถูกนำมาใช้ โดยสนับสนุนให้ทุกคนทำงานไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างและตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานใหม่ ถึงยังไงก็ควรเสริมด้วยสิ่งจูงใจที่เป็นตัวเงิน

5.กำจัดสิ่งที่เปล่าประโยชน์เสียก่อน.. แล้วค่อยจำกัดการเข้าถึงหรือลดคุณภาพ

การดูแลรักษาทั้งระบบไม่ได้เป็นเวชปฏิบัติที่อิงหลักฐานไปซะทั้งหมด และปัจจุบันก็ยังพบว่ามีความสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพยากรและอัตรากำลังเกิดขึ้นอีกมากมายในระบบสุขภาพ ซึ่งจากผลการศึกษาก่อนหน้านี้ของสถาบันกราททัน ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลสามารถประหยัดงบประมาณกว่าพันล้านดอลลาร์ได้ด้วยการพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลและพยายามลดรายจ่ายด้านยาที่แพงเกินไปลง  

ในขณะที่เกิดความสิ้นเปลืองในการใช้ทรัพยากรและอัตรากำลังขึ้นในระบบสุขภาพ แน่นอนว่าการให้บริการที่ไร้จรรยาบรรณและไม่เป็นธรรมนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ฉะนั้นความสิ้นเปลืองนี้คือสิ่งแรกที่ควรได้รับการแก้ไข

6. ใช้ “ข้อมูล” แทนการบรรยายสรุป

ในระบบสุขภาพมีข้อมูลถูกเก็บอยู่มากมายท่วมท้น แต่ส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐบาลอย่างไร้ประโยชน์ จริงๆ แล้วข้อมูลเหล่านี้ควรถูกนำมาใช้อ้างอิงในการพัฒนาเชิงนโยบายและเป็นแบบทดลองในการประเมินผลกระทบจากนโยบายสุขภาพใหม่ๆ องค์กรของรัฐควรลงทุนเพื่อปรับทัศนคติ สร้างกระบวนการทางความคิดและฝึกทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้กำหนดนโยบาย

แม้ว่าการบรรยายสรุปจะช่วยขายนโยบายที่คิดขึ้นได้ แต่นั่นไม่ควรจะนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนานโยบาย เพราะการทำเช่นนั้นอาจจะไปบิดเบือนการรับรู้ของผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาก้าวไปในเส้นทางที่ผิด

7.ยอมรับความเป็นจริง

ผู้กำหนดนโยบายต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง คือรู้ว่าสิ่งใดที่ควรทำและต้องใช้ระยะเวลาเท่าใด การทำงานด้วยความตื่นกลัวจะนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาที่หวังผลระยะสั้น ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพคิดเป็นร้อยละ 10 ของจีดีพี ระบบสาธารณสุขเป็นระบบบริหารจัดการขนาดใหญ่ ฉะนั้น ผู้กำหนดนโยบายควรมีกลยุทธ์ดำเนินงานในระยะยาวและต้องวางแผนเผื่อไปถึงอนาคตด้วย     

ผู้กำหนดนโยบายควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเปลี่ยนแปลง นำร่องและตรวจสอบกระบวนการทำงานว่าเป็นไปอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ที่สำคัญต้องเปิดใจรับแนวทางใหม่ๆในการดำเนินงาน   

เราต้องการสร้างรูปแบบการบริการที่ไปกันได้กับระบบสุขภาพของประเทศ ด้วยการวางแผนและประเมินผลการเปลี่ยนแปลง ระบบสุขภาพของประเทศออสเตรเลีย เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์วัตถุวิสัย (objective criteria) แล้วถือว่าเป็นหนึ่งในระบบสุขภาพที่ดีที่สุดในโลก กล่าวคือ มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยว่าเกณฑ์เฉลี่ยขององค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โอซีดีซี) ในขณะที่ผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิตของประชากรนั้น อยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโอซีดีซี

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า ระบบสุขภาพของออสเตรเลียไม่สามารถจะพัฒนาได้อีกแล้ว แต่หมายความว่า ในระหว่างที่กำลังเปลี่ยนแปลงระบบ เราไม่ควรให้ความสำคัญหรือมุ่งจับผิดในเรื่องเล็กๆ จนเสียงานใหญ่               

หมายเหตุ :  บทความชิ้นนี้เรียบเรียงจากการเสวนา ในหัวข้อ “Health in a Time of Change” ในงาน “The Consumers Health Forum symposium” ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 ส.ค. ที่ผ่านมา เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง