ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชุมบอร์ด สปสช.ห่วงงบเหมาจ่ายปี 58 ไม่เพียงพอหลังเห็นเค้าลางสารพัด เล็งชงงบกลางปีเพิ่ม ด้าน “หมอรัชตะ” ขอดูตัวเลขงบใน 2 ไตรมาสแรกก่อน พร้อมเร่ง สธ.ปรับเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ ย้ำไม่ส่งผลต่อคุณภาพบริการ ขณะที่ “รองปลัด สธ.” รับลูก หวั่นปี 58 วิกฤตการเงินรุนแรงกระทบ รพ.ในสังกัด

23 ก.ย. 57 แม้ว่างบเหมาจ่ายรายหัว ปี 2558 ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ผ่านการพิจารณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้รัฐบาล คสช. ที่ยืนยันให้คงงบเหมาจ่ายรายหัวในอัตราเดียวกับปี 2557 โดยอยู่ที่ 2,895.09 บาทต่อประชากร รวมเป็นงบประมาณ 140,718.74 ล้านบาท แต่ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายยังกังวลต่องบรักษาพยาบาลที่ได้รับโดยไม่มีการขยับเพิ่ม และต่างเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยเฉพาะในหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข  

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกในการทำหน้าที่ประธานบอร์ด สปสช.ของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ภายหลังจากที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ได้มีการบรรจุวาระการพิจารณา “ข้อเสนอหลักเกณฑ์การดำเนินงาน และการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2558” นับเป็นวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณากระจายงบขาลงไปยังหน่วยบริการ ปรากฎว่า บอร์ด สปสช.ที่เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ต่างแสดงความกังวลต่อผลกระทบของการคงอัตรางบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2558 นี้ และเห็นควรให้มีการวางแนวทางรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง สปสช. กล่าวว่า ในการเสนองบเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 ที่เป็นงบขาขึ้น แม้ว่า สปสช.จะของบเพิ่มเติมที่เป็นไปตามสถานการณ์การบริการที่เกิดขึ้น อาทิ งบบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ งบการดูแลผู้ป่วยจิตเวช แต่กลับไม่ได้รับการจัดสรร ขณะเดียวกันยังถูกปรับลดลง อย่างงบดูแลผู้ป่วยไตวายที่ สปสช.ได้เสนอของบประมาณเพื่อดูแลผู้ป่วยจำนวน 35,429 ราย แต่กลับได้รับจัดสรรงบกลับมาน้อยกว่าที่ขอไป 419 คน ทั้งยังถูกตัดงบค่าตอบแทนพื้นที่เสี่ยงภัยและงบพื้นที่ทุรกันดารอีกว่า 435.20 ล้านบาท และเมื่อประกอบกับจำนวนผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าปี 2558 มีจำนวนลดลงกว่า 2 แสนคน จากการเปลี่ยนย้ายสิทธิ ส่งผลให้ภาพรวมงบเหมาจ่ายได้รับจัดสรรลดลง  

“จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทำให้ภาพรวมของงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะการเงินทั้งระบบค่อนข้างตึง คนทำงานโดยเฉพาะผู้ให้บริการอยู่ในภาวะลำบาก ดังนั้นจำเป็นต้องหาทางป้องกันเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณ อย่างเช่น การทบทวนราคากลางรายการอุปกรณ์และอวัยวะเทียม การต่อรองราคายา การจัดบริการสำรองยา และการขยายขอบเขตและเพิ่มเป้าหมายตรวจสอบการจ่าย และหากยังเป็นปัญหาคงต้องขออนุญาตให้ รมว.สาธารณสุข เสนอของบเพิ่มเติม” ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง สปสช. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์งบประมาณที่เกิดขึ้น นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะรีดประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณให้ได้มากที่สุด

ด้านฟากฝั่งผู้ให้บริการรักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขยังเห็นพ้องกันในเรื่องนี้ โดย นพ.ทรงยศ เจริญชัยชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้แทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในกรณีที่งบไม่เพียงพอ แน่นอนว่าหน่วยบริการคงต้องควักกระเป๋าจ่าย ซึ่งดูแนวโน้นปีนี้ยอมรับว่ามีเค้าจะเกิดภาวะวิกฤติการเงินมีความรุนแรงสูง ทั้งจากการบรรจุและเพิ่มเงินเดือนพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) การปรับเพิ่มค่ายาและค่าบริหาร แน่นอนย่อมกระทบต่อเงินบำรุงโรงพยาบาล ซึ่งในส่วนโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงอยู่คงไม่เป็นไร แต่ทั้งนี้ต้องถามว่า สำหรับโรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงอยู่ในภาวะติดลบไม่มีเงินจะทำอย่างไร ทั้งนี้เบื้องต้น สธ.ได้เตรียมมาตรการรับมือ โดยปรับบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น แต่ผลสุดท้าย หากตัวเลขงบประมาณยังคงติดลบอยู่ รัฐบาลคงต้องมาช่วย โดย รมว.สธ.คงต้องของบมาช่วยหน่วยบริการเหล่านี้   

ขณะที่ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่เกิดขึ้น นอกจากการปรับเงินเฟ้อ ค่าตอบแทน และเงินเดือนแล้ว แม้แต่ในส่วนของการตัดเงินเดือนในปีนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขยังขอให้ สปสช.ปรับลดการตัดเงินเดือนจากร้อยละ 32.3 ในปี 2557 ลงมาอยู่ที่ 29.4 ในปี 2558 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหางบประมาณในระบบรักษาพยาบาล เหมือนกับสึนามิที่กำลังจะเกิดขึ้น เรื่องนี้รัฐต้องเข้าใจว่า ปัญหาไม่ได้เกิดจากกระทรวงสาธารณสุขใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพราะหากดูค่ายาและเวชภัณฑ์ จะเห็นว่าทาง สธ.ได้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการต่อเนื่อง จากที่ค่ายาและเวชภัณฑ์อยู่ที่ร้อยละ 32.2 ของค่าใช้จ่าย จนปัจจุบันเหลือเพียงแค่ร้อยละ 29.4 แล้ว เป็นความพยายามปรับตัวเพื่อให้ระบบอยู่ได้ แต่ก็เป็นความตึงตัวของงบประมาณเช่นกัน ดังนั้นจำเป็นที่ สธ. และ สปสช. ซึ่งอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ต้องผนึกการทำงานเพื่อให้ก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้ และที่สำคัญต้องดูว่ามีแหล่งรายได้อื่นหรือไม่ที่จะนำมาสนับสนุนตรงนี้.

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.รัชตะ ได้สรุปในตอนท้ายว่า ปัญหางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวปี 2558 ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดปัญหางบไม่เพียงพอนั้น เบื้องต้นคงต้องหารือในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งด้านการลดค่าใช้จ่าย การรวมจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เพื่อลดราคายา เป็นต้น แต่ยังคงคุณภาพและมาตรฐานการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันต้องมุ่งลดการเจ็บป่วยของประชาชนโดยเดินหน้างานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลลงได้

ส่วนจะมีการขอเพิ่มงบกลางปีเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือไม่นั้น ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า คงต้องขอเวลาช่วง 1-2 ไตรมาสแรกก่อนเพื่อดูตัวเลขงบประมาณ หลังปรับเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารก่อน และหากยังไม่เพียงพอ คงต้องเสนอของบกลางปีเพิ่ม.