ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ตรวจ รพ.สต.ลุโบะสาวอ พบหญิงคลอดลูกเสียชีวิตจากการตกเลือดมีอัตราสูง ขณะที่จังหวัดนราธิวาส ติด 1 ใน 10 ของประเทศ ที่ตายจากโรคไข้เลือดออก รมช.สธ.สั่งจัดบริการเชิงรุก เข้าหาประชาชนถึงบ้าน

นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 12 ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลลุโบะสาวอ (รพ.สต.) อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ที่ถูกลอบวางเพลิงเมื่อ พ.ศ. 2556 เพื่อติดตามความพร้อมการให้บริการประชาชน และสร้างขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่เมื่อวานนี้

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยสุขภาพประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่พิเศษ โดยมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวก รวดเร็ว พร้อมพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพให้มีศักยภาพ ในการดูแลรักษาประชาชนใกล้บ้าน จากการเดินทางมาตรวจเยี่ยมที่ รพ.สต.ลุโบะสาวอ ซึ่งงดให้บริการที่ รพ.สต.ชั่วคราว เพื่อซ่อมแซมอาคารชั้นล่างที่ถูกลอบวางเพลิง โดยใช้งบประมาณ 2 ล้านบาท โดยระหว่างซ่อมแซมได้จัดบริการประชาชนที่มัสยิดลุโบะสาวอแทน เพื่อให้ชาวตำบลลุโบะสาวอ ซึ่งมี 6,731 คน รวม 1,214 หลังคาเรือน และมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 7 คน ทุกคนมีขวัญกำลังใจดี ปฏิบัติงานอย่างเสียสละ โดยจะเปิดให้บริการที่ รพ.สต.เต็มรูปแบบตามปกติในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จังหวัดนราธิวาส มีปัญหาด้านสาธารณสุขหลายเรื่อง ที่ยังสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ อนามัยแม่และเด็ก พบมารดามีภาวะซีดสูงกว่าร้อยละ 15 ขณะที่พื้นที่อื่นไม่เกินร้อยละ 10 ส่งผลให้แม่เสียชีวิตขณะคลอดสูงจากการตกเลือด ในปีนี้พบถึง 6 ราย และพบเด็กมีฟันผุมากกว่าร้อยละ 70 สูงกว่าพื้นที่อื่น 2-3 เท่าตัว รวมทั้งปัญหาเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น เนื่องจากรับประทานอาหารรสเค็มและหวานจัด จากอาหารท้องถิ่น และยังมีปัญหาโรคไข้เลือดออกติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ

ส่วนในการแก้ไขปัญหา นายแพทย์สมศักดิ์ ระบุว่า ได้เน้นให้จัดบริการเชิงรุก โดยตั้งพยาบาล และ อสม.อนามัยแม่และเด็ก ทำหน้าที่ออกไปเจาะเลือดหญิงตั้งครรภ์ถึงบ้าน เพื่อค้นหาและป้องกันภาวะซีด และเน้นให้ฝากครรภ์เร็วขึ้นตั้งแต่ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพื่อให้การดูแลครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยมี อสม.ร่วมติดตามให้มาตรวจครรภ์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้พยาบาลช่วยดูแลส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ส่วนทันตาภิบาล จะให้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาขั้นต้นใน รพ.สต.

ทั้งนี้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีพยาบาลประจำ รพ.สต. จากโครงการผลิตพยาบาลเพิ่ม แก้ปัญหาขาดแคลนชายแดนภาคใต้ 3,000 คน กระทรวงสาธารณสุขจะนำศักยภาพของพยาบาลเหล่านี้ มาใช้ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน เนื่องจากเป็นคนในพื้นที่ มีความเข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี จะสามารถสื่อสารสร้างความเข้าใจในการดูแลสุขภาพได้ดี